หุ้นไทยจะไปทางไหน? หลังแบงก์ชาติจ่อขึ้นดอกเบี้ยแรง-สกัดบาทอ่อน
“ดอกเบี้ยขาขึ้น” กลายเป็นปัจจัยถ่วงตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก หลังธนาคารกลางต่างๆ นำโดยพี่ใหญ่ “เฟด” ธนาคารกลางสหรัฐ ใส่เกียร์เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงปรี๊ด!
โดยในการประชุมล่าสุด (20-21 ก.ย.) เฟดยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ตรงกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นสู่ระดับ 3.00-3.25% สูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์
แต่สิ่งที่สร้างเซอร์ไพรส์รอบนี้ คือ การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดได้ปรับเพิ่มมุมมองอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปี 2565 เป็น 4.4% และ 4.6% ในสิ้นปี 2566 จากเดิมคาดว่าดอกเบี้ยสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 3.4% และ 3.8% ในปี 2566
ดังนั้น หากยึดตัวเลข Dot Plot ล่าสุดที่ 4.4% เท่ากับว่ามีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ในการประชุมนัดถัดไป 2 พ.ย. นี้ และขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี ซึ่งดูจากสัญญาณที่ออกมาแล้ว ดอกเบี้ยจะสูงแบบนี้ไปอีกสักระยะ โดยเจ้าหน้าที่เฟดมองว่าจะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
ขณะที่ประธานเฟด “เจอโรม พาวเวล” ย้ำว่า เฟดยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน แต่ก็ต้องทำเพื่อดึงเงินเฟ้อลงมาสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ให้ได้
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในรอบล่าสุดนี้ ยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐห่างออกไปอีก 2.25-2.50% และถ้าสิ้นปีดอกเบี้ยเฟดเป็นไปตาม Dot Plot ที่ 4.4% ขณะที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เหลืออีกเพียง 2 ครั้ง หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1.25% ซึ่งหากไปเทียบกับสหรัฐ ส่วนต่างดอกเบี้ยจะยิ่งกว้างขึ้นเป็น 3.15% กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้นไปอีก
ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. ต้องใช้ยาที่แรงขึ้น ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละมากกว่า 0.25% ในการประชุม 2 นัดสุดท้ายของปี เพื่อสกัดเงินไหลออก และดึงให้เงินบาทกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายตามที่ภาครัฐอยากเห็น 35 บาท/ดอลลาร์
บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ในการประชุม กนง. สัปดาห์หน้า (28 ก.ย.) มีโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าระดับที่คาดไว้ 0.25% โดยหากมีการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.25% จะกดดันเป้าหมายดัชนี SET Index ลดลงราว 78 จุด หรือ จากดัชนีเป้าหมายปลายปี 1,730 จุด เหลือ 1,652 จุด
แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นจะเป็นปัจจัยลบต่อภาพรวม SET Index แต่ในทางตรงกันข้าม การขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ขณะนี้แต่ละแบงก์พยายามตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุดเพื่อช่วยลูกค้า แต่ถ้าดอกเบี้ยนโยบายยังขึ้นไม่หยุดและยิ่งขึ้นแรง สุดท้ายแบงก์คงอั้นไม่อยู่
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากสินเชื่อที่ขยายตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น โดยบล.ดาโอ ระบุว่า ภาพรวมสินเชื่อเดือน ส.ค. ของ 8 ธนาคารที่ฝ่ายวิจัยศึกษาอยู่ที่ 11.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% MoM ตามการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อย ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้าน
ขณะที่ภาพรวมสินเชื่อเดือน ก.ย. ยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะสินเชื่อรายใหญ่อยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น และภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อรวมทั้งปี 2565 จะเติบโต 4% YoY โดยยังคงให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” เลือก KBANK, KTB เป็น Top pick
เช่นเดียวกับ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด” แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หมดไป ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่อาจทำให้ NPL ของกลุ่มเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ด้วยระดับสำรองของกลุ่มยังมีอยู่สูง น่าจะทำให้การตั้งสำรองปีนี้ลดลง
ประกอบกับสินเชื่อยังเติบโตได้ดี และยังได้อานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น หนุนให้รายได้ดอกเบี้ยเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไรยังโดดเด่น เลือก SCB เป็น Top pick ของกลุ่ม