ซีพีเอฟ กำไรไตรมาส 3 ปีนี้ เติบโต 195% จากปีก่อน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รายงานยอดขายไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 160,266 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,108 ล้านบาท เติบโต 195% จากปีก่อน โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากธุรกิจเนื้อสัตว์ในประเทศไทยและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ดีขึ้น
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รายงานยอดขายไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ที่ 160,266 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5,108 ล้านบาท เติบโต 195% จากปีก่อน โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น มีปัจจัยหลักมาจากธุรกิจเนื้อสัตว์ในประเทศไทยและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ดีขึ้น
ทำให้ผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 มียอดขายรวม 455,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิรอบ 9 เดือนรวม 12,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% จากระยะเวลาดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวถึงผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นว่า ยอดขายของกิจการในหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น จากกำลังซื้อทั้งการบริโภคในประเทศและการส่งออก ที่เป็นผลจากการผ่อนคลายของมาตรการต่างๆ ในการป้องกันโควิด-19 และมีการเปิดประเทศมากขึ้น นอกจากนั้น ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะสุกรขาดแคลนอย่างมากจากโรคระบาดในการเลี้ยงตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งส่งผลให้ราคาสุกรอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีก่อน รวมทั้งทำให้ราคาไก่เนื้อปรับตัวสูงขึ้นด้วย จากความต้องการบริโภคทดแทนเนื้อสุกรที่ขาดแคลน นอกจากนั้น ภาวะราคาสุกรในประเทศจีนที่อยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณสุกรในตลาดที่ลดลง ทำให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนของซีพีเอฟเพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาส 3 ของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ และคาดว่าจะสามารถคงระดับที่ดีนี้ได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า
นอกจากนั้น ท่ามกลางความท้าทายในภาพรวมของเศรษฐกิจ ซีพีเอฟให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ อันรวมถึงการให้ความสำคัญด้านมาตรฐานการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพที่เคร่งครัด การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและการดำเนินงานให้มีความสามารถในการแข่งขัน การคำนึงถึงการสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่จะเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งด้านการผลิต และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
นายประสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า ซีพีเอฟ ได้ประกาศแผนงานการขับเคลื่อนองค์กรมุ่งสู่เป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2050 โดยได้วางกลยุทธ์เชิงรุกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในประเทศไทย