ดาวโจนส์ร่วง 348 จุด กังวลเฟดขึ้นดบ.ฉุดศก.ถดถอย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(22ธ.ค.)ปรับตัวลง 348 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานดีกว่าคาด และจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 348.99 จุด หรือ 1.05% ปิดที่ 33,027.49 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 56.05 จุด หรือ 1.45% ปิดที่ 3,822.39 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 233.25 จุด หรือ 2.18% ปิดที่ 10,476.12 จุด
หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงในวันนี้ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ดัชนีดาวโจนส์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 216,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 222,000 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 1.672 ล้านราย
ด้านนายเดวิด เทปเปอร์ ผู้จัดการ Appaloosa Management กองทุนเฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ของสหรัฐ กล่าวว่า เขาได้เทขายหุ้นออกมาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะยังคงขายหุ้นต่อไปในปีหน้า เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ต่างปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนธ.ค. พร้อมกับส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
"การวิเคราะห์อัพไซด์/ดาวน์ไซด์ของตลาดไม่ได้ถือเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ในเมื่อธนาคารกลางหลายแห่งกำลังบอกผมว่าพวกเขาจะทำอะไร ต้องการทำอะไร และคาดว่าจะทำอะไร" นายเทปเปอร์กล่าวในรายการ "Squawk Box" ของสำนักข่าว CNBC
"สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นเรื่องดีสำหรับผลประกอบการ และเป็นเรื่องยากที่ตลาดจะดีดตัวขึ้นจากสิ่งที่ธนาคารกลางเหล่านี้กล่าวไว้" นายเทปเปอร์ระบุ
นอกจากนี้ นายเทปเปอร์เปิดเผยว่าเขาได้ส่งคำสั่งขายในตลาดพันธบัตรเช่นกัน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 3 ในวันนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.2% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.6% และ 2.9% ตามลำดับ หลังจากเศรษฐกิจหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการลดลงของตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐ