ที่สุดตลาดหุ้นไทยปี 65 บจ. “พลิกเปลี่ยน”หาโอกาส(รอด) ตอนที่ 2
สถานการณ์ก่อให้เกิดทั้งผู้ชนะผู้แพ้ ยิ่งปี 2565 จากการตั้งรับแบบระมัดระวังตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจผ่านช่วงโควิด และเงินเฟ้อ หากยังเป็นการชิงโอกาสของเหล่า
คอร์ปอเรทที่จะก้าวล้ำหน้าคู่แข่งแบบไม่รออีกด้วย
@EV ซุปเปอร์เทรนด์ปี 66
ปรากฏการณ์แห่จอง รถยนต์ไฟฟ้า ของค่ายสัญชาติจีน BYD และสหรัฐ Tesla แบบยอมเฝ้าข้ามคืนและยังปิดยอดจองภายในเวลารวดเร็วในช่วงปลายปี 2565 น่าจะการันตีความ "ฮอต" ของเทรนด์ใหญ่ของโลกนี้ในตลาดไทยได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมยอดจดทะเบียนรถยนต์สะสมกลุ่ม รถไฟฟ้า100% (BEV : Battery Electric Vehicle)ม.ค. – พ.ย. 2565 รวม 8,483 คัน (คิดเป็น 1.05% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ในไทย) และคาดจนจบสิ้นปี 2565 ตัวเลขน่าจะไปอยู่ที่ 10,300 คัน (+540%YoY )รถประเภท HEV ที่ 42,300 คัน (+18%YoY) และรถประเภท PHEV ที่ 11,520 คัน (+106%YoY)
รวมไปถึงการขึ้นแท่นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง EV เป็นวัฏจักรการเติบโตรอบใหม่ หรือ New S-curve ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ท่ามกลางการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการผลิตราว 30% ของการผลิตในประเทศทั้งหมด ใน 10 ปีข้างหน้า(ภายในปี 2030 หรือปี พ.ศ.2573)
หุ้นที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีเพียงกลุ่มยานยนต์ AH, STANLY, SAT ยังมีกลุ่มแบตเตอรี่ไฟฟ้า EA,GPSC,DELTA กลุ่มสินเชื่อรถจักรยานยนต์ TK, NCAP กลุ่มเช่าซื้อ SAWAD, TISCO กลุ่ม ประกัน TVI หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า OR ,EA,GULF,GUNKUL เป็นต้น
@ 3 บิ๊ก “สื่อสาร” ท้าชน
ยอมรับเลยว่า ธุรกิจสื่อสาร ในไทยเกือบจะเข้าขั้นไร้คู่แข่งขัน ด้วยรายการใหญ่ ADVANC กินส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ส่วนอันดับ 2 ด้านTRUE มีฐานทุนที่ใหญ่ และสร้างอีโคซิสเต็มแบบไร้คู่แข่ง และ DTAC ในฐานะผู้เล่นจากต่างชาติย่อมมีดีด้านเทคโนโลยี ทำให้ทั้ง 3 รายใหญ่ครองตลาดมูลค่าแสนล้านบาท มาตลอด
ปี 2565 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ หลัง TRUE ผนึกกับ DTAC ผ่านทางบริษัทแม่ของทั้งสองบริษัท คือ กลุ่ม "ซีพี" และกลุ่ม "เทเลนอร์" ทำให้เกิดประเด็นยืดเยื้อ “ดีลแสนล้านข้ามปี” ว่าไม่สมควรให้อนุญาตรวมกิจการจากส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
ปลายปี 2565 มติไม่เป็นเอกฉันท์ กสทช. ทำให้ดีลดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งกลายเป็น บวกต่อธุรกิจแทน เพราะการแข่งขันระดับที่สูงอดีตไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะรายใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดทำได้ยากมาก ต้นทุนค่าใช้จ่ายของ 3 บริษัทลดลงโดยปริยาย
@ ADVANC พลิกเกมสู้
จากผู้ที่ถูกชิงส่วนแบ่งการตลาด ADVANC กลับพลิกเกมใหม่ในตลาด “บรอดแบรนด์” หลังได้รับไฟเขียวจากผู้ถือหุ้นใหม่กลุ่ม GULF เสนอซื้อกิจการ TTTBB จาก JAS และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต หรือ JASIF ด้วยมูลค่า 32,420 ล้านบาท
กลายเป็นประเด็นลากยาวหลังผู้ถือหน่วย JASIF รวมตัวไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ ADVANC ปรับเปลี่ยนสัญญาการเช่าการันตีสัญญาเช่าเป็นปี 2580 จากเดิมสิ้นสุด 2575 เพื่อรักษาจ่ายเงินปันผลที่ 7% แทน จนทำให้ต้องมีการปรับเงื่อนไขอีกรอบ
ด้วยการลดภาระหนี้จากเจ้าหนี้รายใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มูลค่า 14,000 ล้านบาท ด้วยการลดดอกเบี้ยลง 0.50% ทำให้ JASIF มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเพื่อมีโอกาสมาจ่ายเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหน่วยตามที่ ADVANC จะขยายระยะเวลาการเช่าออกไป 6 ปี ทำให้ต้องมีการเลื่อนประชุมผู้ถือหน่วยออกไปจาก 22 ก.ย. เป็น 18 ต.ค.
จนสุดท้ายผู้ถือหน่วย JAISIF ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขทำให้ ADVANC ถอยไปตั้งหลักเพื่อกลับมาเสนอซื้อ TTTBB อีกครั้งภายใต้ “เงื่อนไขใหม่” สะท้อนการพลิกเกมของ ADVANC จากผู้เล่นอันดับ 4 ในกลุ่มมาเป็นอันดับ 1 ให้ได้
@ MORE ตีแตก “โบรกเกอร์ “
ยกให้เป็น เคสสุดพิลึกพิลัน ในตลาดหุ้นไทยแต่สะเทือนธุรกิจโบรกเกอร์เป็นไฟลามทุ่ง จากรายการซื้อหุ้น MORE “อภิมุข บำรุงวงศ์” หรือ เสี่ยปิงปอง 1,500 หุ้น ราคา 2.90 บาท มูลค่า 4,350 ล้านบาท (10 พ.ย.) กลายเป็น “ไม่มี ไม่หนี และไม่จ่าย” เงินค่าหุ้นกรรมหนักตกไปอยู่ที่ 11 โบรกเกอร์ฝั่งผู้ซื้อที่ต้องจ่ายเงินชำระค่าหุ้นออกไปแล้วต้องไปตามฟ้องร้องทางกฎหมายกันเอง ซึ่งกลายเป็นเงินสูญไปในพริบตา
ท่ามกลางการออกมาให้ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมโบรกเกอร์ในช่วงแรกที่ “ไม่ชัด ไม่เคลียร์ ไม่กล้า และประเมินผลกระทบต่ำเกินไป “ เพราะหลังจากนั้นคือ การหยุดดำเนินกิจการของ บล.เอเชีย เวลท์ หนึ่งในผู้ปล่อยมาร์จิ้นซื้อหุ้น MORE หลังเงินกองทุน NCR ติดลบ
รวมไปถึงการล้อมคอกงดให้มาร์จิ้นหุ้นเล็ก P/E สูง และ trunove ratio พุ่ง สกัดสายเก็งกำไร - โรบอตเทรด – ขาใหญ่ จากตลาดหุ้นทันที ทำให้ภาพ ธุรกิจโบรกเกอร์ ทำเงินเป็นกอบเป็นกำในตลาดหุ้นกลายเป็น “เสือเขี้ยวกุดไปทันที”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์