สารพัดปัจจัยหนุน “หุ้นท่องเที่ยว” แต่ราคาเต็มมูลค่า?
บรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กลับมาคึกคักมากที่สุดในรอบ 3 ปี หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ประเทศไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ หนุนการเดินทางท่องเที่ยวทั้งตลาดไทยเที่ยวไทยและต่างชาติเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดย ทอท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT คาดการณ์ว่า ช่วงหยุดยาวปีใหม่ 29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 ผู้โดยสารทั้ง 6 สนามบินของ ทอท. จะพุ่งแตะ 2 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้น 171.28% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1 ล้านคน พุ่งแรง 832.51% และผู้โดยสารในประเทศอีก 1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 57.05% ด้วยจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งหมด 12,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 87.01%
ขณะที่ปีหน้า 2566 แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยยังสดใส หลังมีข่าวดีจีนเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เริ่ม 8 ม.ค. 2566 โดยจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศทั้งหมด และอนุญาตให้คนจีนออกนอกประเทศได้แล้ว ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์ไม่น้อย เพราะเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
การเปิดประเทศของจีนถือเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวไทย เพราะจีนถือเป็นตลาดอันดับ 1 เมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยกว่า 11 ล้านคน ทำสถิติสูงสุดใหม่ หรือ คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 27% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
ขณะที่ก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 เพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือ คิดเป็น 50% ของปี 2562 ที่ทำออลไทม์ไฮไว้ราว 40 ล้านคน แต่เมื่อจีนเปิดประเทศเร็วขึ้นจึงปรับเป้าใหม่เป็นไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน
ส่วนตลาดไทยเที่ยวไทยยังสดใส มีแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ รอลุ้นมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 5 ที่คาดเสนอ ครม. สัปดาห์หน้า หลังถูกเลื่อนมาแล้ว 2 รอบ เนื่องจากนายกฯ สั่งให้ปรับลดวงเงินใหม่ เบื้องต้นแม้จำนวนสิทธิลดลง แต่การช่วยเหลือน่าจะคงเดิม แบ่งเป็นค่าห้องพัก 3,000 บาท และคูปองสำหรับค่าอาหารและท่องเที่ยวอีก 600 บาท เริ่มคิกออฟโครงการตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. 2566
นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีหลังบรรดา ผู้ประกอบการ 7 สายการบินชั้นนำ จัดหนักจัดเต็ม! ร่วมจัดโปรโมชั่นพิเศษให้ส่วนลดค่าโดยสารเส้นทางในประเทศสูงสุดถึง 20% เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนทุกคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเดินทางและใช้จ่ายในประเทศให้คึกคักยิ่งขึ้น
จากปัจจัยบวกต่างๆ เหล่านี้ ย่อมส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละตัววิ่งคึกคัก “พ้นจุดต่ำสุด” เป็นที่เรียบร้อย ถ้าดูราคาหุ้นปัจจุบันเทียบกับราคาปิดปี 2562 พบว่า หุ้นสนามบิน บมจ.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ซึ่งเป็นประตูบานแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 2.69%
ส่วนผู้ประกอบการสายการบิน บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เพิ่มขึ้น 43.66%, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เพิ่มขึ้น 95.68%
กลุ่มโรงแรม บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เพิ่มขึ้น 18.32%, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ราคาหุ้นฟื้นตัวมาแล้ว 101%, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ปรับตัวลดลง 7.64%
บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บวก 9.40%, บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บวก 29.11%, และบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา 16.49%
นอกจากราคาหุ้นที่พ้นจุดต่ำสุด ผลประกอบการก็น่าจะพ้นจุดต่ำสุดเช่นกัน ปีหน้าหลายบริษัทมีลุ้นพลิกมีกำไรอีกครั้ง หลังขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เกิดโรคระบาด แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่การลงทุนต้องยอมรับว่าปัจจุบันราคาหุ้นหลายตัวกลับไปใกล้เคียงกับช่วงปี 2562 ขณะที่บางตัวพุ่งเกินไปแล้วด้วยซ้ำ ทำให้อัพไซด์แทบไม่มี ยกเว้นจะได้ยาแรงจากตลาดจีนเข้ามาช่วย
โดยบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นท่องเที่ยว “เท่ากับตลาด” แม้ผลประกอบการยังฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2566 แต่ราคาหุ้นถูกซื้อขายบนความคาดหวังล่วงหน้าไปมากแล้ว ยกเว้นจีนจะเปิดประเทศได้เต็มศักยภาพ
ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) มองว่า การเปิดประเทศของจีนถือเป็นปัจจัยบวกระยะสั้น ขณะที่ราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่ดีในระยะยาวไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงขึ้นและภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว