หุ้น TRUE รวบ “ดีลแสนล้าน” นับถอยหลัง “เคาะราคา” ดันมูลค่า
ดีลใหญ่แสนล้าน และข้ามปีระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มาถึงบทสรุปด้วยการตกลงร่วมกันให้ TRUE เป็นผู้นำธุรกิจนำพาสองแบรนด์ใหญ่แข่งขันในตลาดผ่านการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ (เหมือนเดิม) “ทรู คอร์ปอเรชั่น “
หลังฝ่าด่านกระแสต่อต้าน และคัดค้านจากหลายหน่วยงานไล่มาตั้งแต่ การทำงาน กสทช.ชุดใหม่ภายใต้แรงกดดัน รอบด้านตั้งแต่ตรวจสอบทางกฎหมายถึงอำนาจหน้าที่ ที่มีอยู่ และยังให้หน่วยงานทางกฎหมายอย่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกด้าน
ด้านข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเพื่อนำมาใช้พิจารณาต้องตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด และประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาผลทั้ง 4 ด้านคือ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านเทคโนโลยี ด้านกฎหมาย และด้านคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงล่าสุดของข้อมูลเปรียบเทียบในต่างประเทศที่เกิดดีลการควบรวมกิจการในลักษณะเดียวกันเพื่อนำมาตัดสินใจ
ผู้ประกอบการโอเปอเรเตอร์ด้วยกันเองที่ระบุ คัดค้านชัดเจนจากสภาพการแข่งขันกระจุกตัวในอัตราที่สูงมากอยู่แล้ว ด้วยการอิงกับดัชนีการแข่งขัน (HHI) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 ยิ่งทำให้บริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 53.4% เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการแข่งขัน และเข้าข่ายเป็นการครอบงำตลาด
สุดท้ายด้วยคะแนนเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ กสทช. อนุมัติให้ TRUE-DTAC ควบรวมกิจการกันได้แบบมีเงื่อนไขตามการคาดการณ์ของตลาดที่มองไว้แล้วว่า “ดีลนี้อย่างไรก็ผ่าน” แม้จะกินระยะเวลาพิจารณากสทช.ถึง 7 เดือน และอีก 14 เดือนตั้งแต่ประกาศดีลของทั้ง 2 บริษัทตั้งแต่เดือนก.ย.2564
หากแต่สิ่งตลาดทุนติดตามหลังจากนี้คือ การดำเนินการรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัท ที่ปรับเงื่อนไขใหม่หลังกินระยะเวลายาวนานกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดสัดส่วนหุ้นที่จะทำการสวอปหุ้นไปยังบริษัทใหม่
ตามเงื่อนไขเดิมตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ทุนจดทะเบียน 138,208 ล้านบาท และมีหุ้นจำนวน 34,552 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 4 บาท มีการแลกหุ้นตามสัดส่วน TRUE 1:0.60018 และ DTAC 1:6.13444 ทำให้ TRUE มีราคามูลค่า (VTO) 5.09 บาท และ DTAC (VTO) ที่ 47.76 บาท จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทระหว่างที่ยังไม่มีพิจารณา กสทช.ไม่หลุดจากราคาดังกล่าว
ขณะที่เงื่อนไขปัจจุบันที่มีการปรับแถบจะเหมือนเดิมภายใต้ทุนจดทะเบียน 138,208 ล้านบาท แต่มีหุ้นจำนวน 35,552 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 4 บาท มีการแลกหุ้นตามสัดส่วน TRUE 1:0.60018 และ DTAC 1:6.13444 ซึ่งทำให้มูลค่าของผู้ถือหุ้น TRUE ไม่แตกต่างจากเงื่อนไขเดิม 5.09 บาท และ DTAC ที่ 47.76 บาท
โดยกำหนดระยะเวลาขึ้นเครื่องหมายปิดสมุด 26 ม.ค.2566 และทำการจัดสรรหุ้นยัง บริษัทใหม่ 22 ก.พ.2566 ซึ่งจะมีการหยุดพักซื้อขาย 9 วันทำการ ระหว่าง20 ก.พ. - 2 มี.ค.2566 เพื่อจัดประชุมผู้ถือหุ้น 23 ก.พ. 2566 ภายใต้บริษัทใหม่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” หรือ TRUE
หรือระบุได้ว่าจากนี้ไปบริษัทใหม่มีเพียง TRUE ด้วยศักยภาพการให้บริการที่ครอบคลุมมากกว่าทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เคเบิ้ลทีวี อินเทอร์เน็ต ทีวีดิจิทัล ทำให้มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมมากกว่าเทียบกับ DTAC ให้บริการเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเดียว แม้จะมีแบรนด์ TURE-DTAC ยังให้บริการแต่ “ผู้ที่กุมบังเหียนเต็มตัว” คือ TRUE
ส่วนกลุ่ม “เทเลนอร์ “ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ DTAC สามารถลดบทบาทการลงทุนที่สูง และอาจจะเผชิญการขาดทุนได้ในธุรกิจนี้ สามารถถอยออกจากตลาดโอเปอเรเตอร์ในไทย หลังจากเพลี่ยงพล้ำในช่วงศึกประมูล 5 G และกลายเป็นผู้เล่นอันดับ 3 มี TRUE ขึ้นมากวาดฐานลูกค้าไปครอง และเผชิญการเติบโตที่ลดลงจนกลายเป็นหุ้นเน้นจ่ายปันผลแต่ไม่เน้นการเติบโตไปแทน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์