งบโบรกเกอร์ “ระส่ำ – ขาดทุน” ตามนัด ย้อนหลังตั้งสำรองหุ้น MORE
ระยะเวลาเกือบ 3 เดือนข่าวใหญ่ในตลาดทุนไทยกรณีหุ้น บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE เหมือนจะเงียบหายไปตามประเด็นใหม่ และฮอตกว่ามาแทนที่ แต่ตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจโบรกกเกอร์ ในไตรมาส 4 ปี 2565 เป็นตัวสะท้อนได้ดีว่า กระทบรุนแรงแค่ไหน
จากรายการคำสั่งซื้อ ของ “อภิมุข บำรุงวงศ์” หรือ เสี่ยปิงปอง 1,500 หุ้น ราคา 2.90 บาท มูลค่า 4,350 ล้านบาท (10 พ.ย.) ผ่านบัญชีมาร์จิ้น (Credit Balance Account) และบัญชีเงินสด (Cash Account) และจับคู่รายการซื้อขายสมบูรณ์
สุดท้ายไม่มีการชำระเงินจากฝั่ง ”ผู้ซื้อ” ทำให้โบรกเกอร์ในฝั่งผู้ซื้อหุ้นทั้ง 11 ราย ได้ชำระหุ้น และส่งมอบหุ้นไปแล้วพร้อมกับดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายจนมีการอายัดรายการดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน
ตามการ สอบสวนของ ปปง. พบว่า “เสี่ยปิงปอง” กับพวก มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 34 รายการ ซึ่งเป็น “เงินหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อต่อเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น MORE หรือ MORE-R รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,300 ล้านบาท พร้อมดอกผล จึงสั่งอายัด 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2565 ถึง 18 ก.พ. 2566”
ทางด้านกฎหมายใกล้จะถึงระยะเวลาที่กำหนดแต่ในฝั่งของ “ผู้รับความเสียหาย” อย่างโบรกเกอร์ เจอผลกระทบที่แท้จริงในไตรมาส 4 ปี 2565 ไปเรียบร้อย
รายแรกอยู่ในกลุ่ม ผู้เสียหาย และ ฝั่งโบรกเกอร์ ผู้ซื้อ หุ้น MORE ที่เจอผลกระทบไปก่อน และไปต่อไม่ไหว บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ ด้วยฐานทุนที่เล็ก ทำให้เผชิญขาดทุน ไม่มีสภาพคล่องหรือเงินสดในมือ จนเกิด “ฉกเงิน” ลูกค้ามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และสุดท้ายเงินกองทุนสภาพคล่อง (NCR) ลดลงจนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด และไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ สุดท้ายเข้าใกล้คำว่า “ล่ม” เพื่อให้ผู้ลงทุนรายใหม่
ด้านโบรกเกอร์รายใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มอีกราย บล. เกียรตินาคินภัทร ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายจากเคสดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้นๆ 700 ล้านบาท ตามงบการเงินฝ่าย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ออกมาทำให้มีผลต่องบการเงินของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ
ตามรายงานงบไตรมาส 4 ปี 2565 ของ KKP กำไรสุทธิ 1,430 ล้านบาท ลดลง 29.3% (Y-Y) แม้จะมีรายได้จากดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิเพิ่มขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เจอผลจากการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรองรับผลกระทบจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 708 ล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจตลาดทุนมีผล "ขาดทุนสุทธิ 250 ล้านบาท " และมีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ 1 ล้านบาท
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นก้อนใหญ่เพราะไตรมาส 1จนถึงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธุรกิจตลาดทุนของ บล.เกียรตินาคินภัทร ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นจะลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 96,240 ล้านบาท มาอยู่ที่ 77,663 ล้านบาท และ 71,211 ล้านบาท ตามลำดับ
ช่วงเวลาเดียวกันธุรกิจตลาดทุนทำกำไรสุทธิไตรมาส 1ที่ 466 ล้านบาท ไตรมาส 2 ที่ 206 ล้านบาท ไตรมาส 3 ที่ 336 ล้านบาท จนไตรมาส 4 พลิกเป็นขาดทุน 250 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งปี 2565 KKP มีกำไรสุทธิ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3 % (Y-Y) และมีกำไรสุทธิธุรกิจตลาดทุนที่ 758 ล้านบาท
ตัวเลขการตั้งสำรองดังกล่าวก้อนใหญ่ และเป็น one time เพื่อลดผลกระทบข้างหน้าที่ประเมินกันแล้วว่าโอกาสที่จะกลายเป็น “หนี้สูญ” มากกว่า “ได้คืน 100%” ส่วนโบรกเกอร์รายอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าหรือฐานทุนไม่ใหญ่เท่า หรือไม่มีแม่เป็นกลุ่มธนาคาร และอยู่ใน "กลุ่มโบรกเกอร์ฝั่งผู้ซื้อหุ้น MORE" คาดเดาได้ไม่ยากว่าเป็น 'ไตรมาสที่ขาดทุนแบบไม่ต้องสงสัย"
ด้วยตัวเลขผลกำไรในแต่ละไตรมาสของธุรกิจโบรกเกอร์ ช่วงดีที่สุดคือ ไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุด ยังทำกำไรอยู่ที่หลักสิบล้านบาท จนถึงระดับหลักร้อยล้านบาท ซึ่งเมื่อตัวเลขผลประกอบการจริงทยอยออกมาราคาหุ้นอาจจะลดลงเพื่อรับข่าวตามไปด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์