ดาวโจนส์บวก 28 จุด ขานรับดัชนี PCE บ่งชี้เงินเฟ้อชะลอตัว
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(27ม.ค.)พลิกกลับมาปิดในแดนบวก 28 จุด ขานรับดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้การชะลอตัวของเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงหนุน หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 28.67 จุด หรือ 0.08% ปิดที่ 33,978.08 จุด
- ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ขยับขึ้น 0.25% ปิดที่ 4,070.56 จุด
- ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 0.95% ปิดที่ 11,621.71 จุด
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า รวมทั้งถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งอาจส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังการเปิดเผย ดัชนี PCE ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นการตอกย้ำว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว สอดคล้องกับการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก่อนหน้านี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และจะปรับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ย. ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ โดยก่อนหน้านี้เฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปี 2567
เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่แล้วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากที่รัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ.2565 ทำให้สหรัฐและชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการขาดแคลนพลังงานและอาหารอย่างหนัก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 7 ครั้งในปีที่แล้ว โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง, 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.75% จำนวน 4 ครั้ง ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2550
หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 1.0% ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ในช่วงสิ้นปีดังกล่าว และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1.0% ในปี 2568 สู่ระดับ 3.1% ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวสู่ระดับ 2.5%