ดาวโจนส์บวก 129 จุด ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ก่อนหยุดยาวช่วงสุดสัปดาห์
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(17ก.พ.)ปรับตัวเพิ่มขึ้น 129 จุด โดยแกว่งตัวแดนบวกสลับแดนลบ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ตลาดหุ้นนิวยอร์ก จะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 20 ก.พ. เนื่องในวันประธานาธิบดี
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 129.84 จุดหรือ 0.39% ปิดที่ 33,826.69 จุด
ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.28% ปิดที่ 4,079.09 จุด
ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวร่วงลง 0.58% ปิดที่ 11,787.27 จุด
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ส่วนการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. ครั้งละ 0.25% สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
ด้านนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมทั้งการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.ในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนม.ค. สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากร่วงลง 0.8% ในเดือนธ.ค.
Conference Board ระบุว่า การปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึงราคาหุ้น, คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, การอนุญาตสร้างบ้าน, ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค