ดาวโจนส์ร่วงในกรอบแคบ 84 จุด หลังทรุดหนักวานนี้
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(22ก.พ.)ปรับตัวลงในกรอบแคบ 84 จุด จากการที่นักลงทุนส่งแรงซื้อเก็งกำไรเข้าตลาด หลังราคาหุ้นดิ่งหนักวานนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 84.50 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 33,045.09 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วง 0.16% ปิดที่ 3,991.05 จุด และดัชนีแนสแด็กปรับตัวขึ้น 0.13% ปิดที่ 11,507.07 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงเกือบ 700 จุดวานนี้ ขณะที่นักลงทุนกังวลว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่แข็งแกร่งของสหรัฐจะผลักดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเวลานานขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากผลประกอบการที่อ่อนแอของบริษัทค้าปลีก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน
นักลงทุนซื้อขายอย่างระมัดระวังในวันนี้ ก่อนการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.ในวันพุธ(22ก.พ.)ตามเวลาสหรัฐ
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2550
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า "แม้เงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยต่อไป"
แถลงการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยไม่มีการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
โกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปีนี้ สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งบ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. ครั้งละ 0.25% สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ แสดงความเชื่อมั่นว่าเฟดจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อ โดยเฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่แรงขึ้น
"ความเสี่ยงของเราในขณะนี้คือเงินเฟ้อไม่ยอมลงมา และกลับเร่งตัวขึ้น ซึ่งเราจะต้องดำเนินการ และหากเงินเฟ้อไม่เริ่มปรับตัวลง เราก็มีความเสี่ยงที่จะซ้ำรอยช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเราคงไม่ต้องการไปถึงจุดนั้น ดังนั้นเฟดจึงควรรีบขึ้นดอกเบี้ยให้แรงขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ภายในปีนี้" นายบูลลาร์ดกล่าว
นายบูลลาร์ดระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงขึ้นจะทำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีโอกาสมากขึ้นที่จะสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ นายบูลลาร์ด และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ เป็นเจ้าหน้าที่เฟด 2 คนที่ลงมติให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 1 ก.พ. แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมดังกล่าว
นอกจากนี้ นายบูลลาร์ดยังสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมี.ค. และเชื่อว่าการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่ทำให้สหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่อย่างใด