ในการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนไทย ก.ล.ต. มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ด้านที่สำคัญ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ลงทุนเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเชื่อมั่น ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนและประกอบธุรกิจในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม และตลาดทุนสามารถเชื่อมโยงและรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้ โดยมีการจัดการความเสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง (reduction of systemic risk)
ขณะที่โลกภายใต้บริบท “VUCA World” ที่สภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมมีความไม่แน่นอนและยากต่อการคาดการณ์ รวมทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง ระบบการเงินมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนมากกว่าในอดีต ทำให้ “การจัดการความเสี่ยง” และการเตรียมความพร้อมให้ตลาดทุนสามารถรองรับหรือทนทาน (resilience) ต่อสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมทั้ง ก.ล.ต. ด้วย
ดังนั้น เพื่อเตรียมพร้อมตลาดทุนไทยให้มีความสามารถรองรับภาวะวิกฤต ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และลดโอกาสเกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ก.ล.ต. มีกลไกในการติดตาม ป้องกัน และจัดการความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งการลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนช่วยเหลือ สนับสนุน และฟื้นฟูให้สามารถดำเนินงานอยู่ได้ โดยดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่อยู่ภายใต้การการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงที่ผ่านมา จึงเห็นว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน และฟื้นฟูผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน เช่น เสนอกระทรวงการคลังออกประกาศเพื่อผ่อนคลายให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว เพื่อลดผลกระทบให้แก่ลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อป้องกันการยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ของตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึงช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ออกตราสารหนี้ กรณีที่คาดว่าจะไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ได้ และพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี
ในบางมาตรการของ ก.ล.ต. เป็นการ “เปิดช่องทาง” เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับ stakeholder ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและอาจต้องการเพื่อช่วยเหลือด้วยกระบวนการที่แตกต่างจากภาวะปกติ เช่น การออกหลักเกณฑ์การระดมทุนผ่านทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและประกอบธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพผ่าน REIT buy-back และได้ออกหลักเกณฑ์จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 (High Yield Bond Fund) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาด High Yield Bond และสร้างเสถียรภาพในตลาดรองตราสารหนี้ อีกทั้งเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนโดยตรงในตราสารดังกล่าว เปลี่ยนมาลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยมืออาชีพ
นอกจากการประเมินความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในตลาดทุนและกำหนดมาตรการในการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นแล้ว ก.ล.ต. ยังได้วางแผนและซักซ้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในด้านต่าง ๆ ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนและหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันและพร้อมรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับตลาดทุนไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ ก.ล.ต. มีความมุ่งมั่นและไม่หยุดยั้งในการทำหน้าที่และบทบาทที่จะอำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วนในการใช้ประโยชน์จากตลาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์วิกฤต เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกหนึ่งที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยอย่างแข็งแกร่งต่อไป