CPF เผชิญแรงกดดัน ราคาหมูไก่ขาลง-ต้นทุนพุ่ง
ปีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารยักษ์ใหญ่ของไทย หลังราคาเนื้อสัตว์ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
สวนทางกับต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งจากค่าไฟ ค่าแรง ธัญพืช วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ต่างๆ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย
โดยเฉพาะ “ราคาเนื้อหมู” ที่ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละ 80 บาท เทียบกับช่วงสิ้นปี 2565 ที่พุ่งทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าไทยมาขายตัดราคาเนื้อหมูในประเทศ
ขณะที่ราคาเนื้อหมูในจีนยังค่อนข้างต่ำจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนราคาหมูในเวียดนามยังถูกกดดันจากการบริโภคที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ราคา “เนื้อไก่” ย่อตัวลงเช่นกัน เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท จากสิ้นปี 2565 ที่กิโลกรัมละ 42.60 บาท ส่วนราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 3.20 บาท จากปีก่อน 3.40 บาท
แต่ในฝั่งของวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงง่ายๆ เช่น “ข้าวโพด” ต้นปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 11.40 บาทต่อกิโลกรัม และปิดปีที่ 12.60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ล่าสุดราคาจ่อทะลุ 14 บาทแล้ว
ส่วน “กากถั่วเหลือ” ก็ไม่ต่างกัน เริ่มต้นปี 2565 ที่ 21.40 บาทต่อกิโลกรัม และไปจบปีแถวๆ 23.30 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ล่าสุดทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 23.40 บาท
จากแนวโน้มราคาเนื้อสัตว์ที่ยังอยู่ในช่วงขาลง สวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้น จะกดกัดกำไร CPF ไตรมาสแรกปีนี้ไม่สวยเท่าไหร่ น่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน
แต่ก็คาดหวังว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนุนการบริโภคในประเทศ ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ บรรยาการการเดินทางท่องเที่ยวน่าจะคึกคักยิ่งขึ้น รวมทั้งเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้ง เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนอุปสงค์ภายในประเทศ
ด้านบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2566-2567 ลง 17% สะท้อนถึงผลกระทบจากราคาเนื้อสัตว์ในไทยที่มีแนวโน้มลดลงมากกว่าคาด รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ราคาหมูในประเทศจีนปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีนี้จากปริมาณหมูเพิ่มขึ้น หลังผู้ประกอบการหลายรายขยายกำลังการผลิต
อย่างไรก็ดียังคาดว่ากำไรปกติปีนี้จะเพิ่มขึ้น 14% เป็น 1.22 หมื่นล้านบาท ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคที่ฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิดในไทยและต่างประเทศคลี่คลาย แม้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 13.4% ตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นและการบริหารจัดการวัตถุดิบ
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลง 28% เหลือ 1.41 หมื่นล้านบาท (+1% YoY) เนื่องจากได้มีการปรับอัตรากำไรขั้นต้นลงเหลือ 12.7% จากการปรับลดสมมติฐานราคาหมู และคาดว่าต้นทุนอาหารสัตว์จะสูงขึ้น และได้ปรับลดส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือลง 29% เพราะคาดว่ากำไรจะลดลงจากทั้งธุรกิจค้าปลีก (8%) และการเกษตร (61%) รวมทั้งได้ปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยขึ้นอีก 13%
ส่วนปี 2567 ได้ปรับลดประมาณการกำไรสุทธิลง 12% เหลือ 1.56 หมื่นล้านบาท (+11% YoY) หลังปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นลงเหลือ 12.5% และปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยขึ้นอีก 11%
ทั้งนี้ แม้ว่านักวิเคราะห์จะพร้อมใจหั่นกำไรและราคาเป้าหมายลง แต่ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น CPF ด้วยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง ตัวธุรกิจเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประวัน แต่ในช่วงสั้นราคาหุ้นอาจยังไม่มีปัจจัยเร่ง จึงน่าจะเหมาะสำหรับการซื้อเพื่อถือในระยะยาวมากกว่า