‘หุ้นไทย’ ร่วง 8.26 จุด หลังเฟดส่อเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.50% เดือนมี.ค.

‘หุ้นไทย’ ร่วง 8.26 จุด หลังเฟดส่อเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.50% เดือนมี.ค.

ตลาดหุ้นไทยปิดเช้านี้ ( 8 มี.ค.66 ) รับแรงกระแทกปรับลดลงมาที่  เวลา 12.30 น. อยู่ที่ระดับ 1,610.25 จุด ปรับตัวลง 8.26 จุด หรือ -0.51% หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อคืนนี้ ( 7 มี.ค.66 ) ใช้มาตรการยาแรงปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนนี้

ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยกลับมากังวลอีกครั้ง หลังจากที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ออกมาส่งสัญญาณเมื่อคืนนี้ (7 มี.ค.66) ว่าจะต้องใช้มาตรการยาแรงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม 0.5% ในเดือนนี้ หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงมาที่ 1.7% หรือ 574 จุด S&P 500 ลดลง 1.5% และ Nasdaq Composite ลดลง 1.3%

ส่วนตลาดหุ้นไทยปิดเช้านี้ (8 มี.ค.66) รับแรงกระแทกด้วยเช่นกัน ปรับลดลงมาที่  เวลา 12.30 น. อยู่ที่ระดับ 1,610.25 จุด ปรับตัวลง 8.26 จุด หรือ -0.51% สูงสุด 1,611.17 จุด ต่ำสุด 1,599.87 จุด มูลค่าการซื้อขาย 30,239.18 ล้านบาท 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การร่วงลงของตลาดหุ้นไทยวันนี้ ลงตามตลาดหุ้นสหรัฐแต่ว่าน้อยกว่า ซึ่งล่าสุดหลังจากที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณให้ตลาดกังวลใจเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะกลับมาเข้าสู่โหมดการเร่งตัวอีกครั้งจาก 0.25% อาจอยู่ที่ 0.50% ในการประชุมเดือนนี้ 

เพราะฉะนั้นนักลงทุนเริ่มกลัวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบเรื่อยๆ  และเพิ่มความเร็วอีกครั้งจะเริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐได้ นั่นคือ เหตุผลว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวไม่ได้ขยับขึ้น เหมือนบอนด์ยีลด์ระยะสั้นแม้แต่น้อย เพราะบอนด์ยีลด์ระยะยาวมักจะสะท้อนภาพของเศรษฐกิจ ถ้าเริ่มกังวลกับเศรษฐกิจก็จะไปหลบภัยที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว จนทำให้ยีลด์ทรงตัวหรือลดลงด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พาวเวล พูดว่า การที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร่งขึ้นอีกครั้งเป็นลักษณะที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงถัดไป ซึ่งนับจากวันนี้ไป จนถึงการประชุมเฟดจะเหลืออยู่ 2 ชุดข้อมูลที่สำคัญ 

1.คือเรื่องของตัวเลขตลาดแรงงานที่จะออกมาในวันศุกร์นี้ (10 มี.ค.66) และ 2.ตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกมาในวันอังคารหน้า (14 มี.ค.66) เพราะฉะนั้น 2 ชุดข้อมูลนี้จะเป็นชุดข้อมูลเศรษฐกิจที่จะชี้ชะตาที่สำคัญมากๆ น่าจะมีอิทธิพลต่อเฟดกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ 0.25% หรือ 0.50% 

ทั้งนี้ในสภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังหาจุดเทิร์นนิงพอยท์ไม่เจอ ฟันด์โฟลว์ในตลาดหุ้นไทยก็จะมีทิศทางไหลออกสุทธิต่างเนื่องได้ทุกวัน โดยแนวรับอยู่ที่ 1,580 - 1,600 จุด ซึ่งวันนี้ลงมาแตะที่ 1,600 จุด สักระยะหนึ่ง และก็สามารถดีดขึ้นมาได้ จึงให้สังเกตว่า ถ้าในรอบสัปดาห์นี้ถ้าต่ำลงมากว่า 1,600 จุด สามารถที่จะเป็นจุดเข้าซื้อได้

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละวันมีการเทขายของนักลงทุนต่อเนื่อง แต่ยังขายทุกวัน ซึ่งเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.66) ที่เห็นนักลงทุนต่างชาติขายออกไม่มาก เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมา ทำให้กลุ่มพลังงานผลักดันตลาดไปด้วย พอมาวันนี้ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้นจากเมื่อคืน ทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงมา จึงเป็นการซ้ำเติมกลุ่มนี้ให้ลงมาค่อนข้างจะแรง และกดดันตลาดหุ้นด้วย 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทิศทางตลาดหุุ้นไทยปรับตัวลดลงมาประมาณ 10 กว่าจุดต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1,600 จุด หลังรับแรงกดดันจากถ้อยแถลงการณ์ของประธานเฟดเมื่อคืนต่อวุฒิสภาสูงว่า สัญญาณภาคเศรษฐกิจมีความร้อนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และเป็นจังหวะในการเปิดกว้างต่อการใช้นโยบายในการใช้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงถัดไปยังคงร้อนแรงต่อ สัญญาณของอัตราดอกเบี้ยตลาดตามทิศทางนโยบายเฟดว่า ท้ายสุดถ้าตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเฟดอาจต้องใช้ยาแรงมากขึ้น 

ทั้งนี้มองว่า การประชุมในเดือนมี.ค.นี้ ต้องขยับอัตราดอกเบี้ยที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจากก่อนหน้านี้ค่อยๆ ขยับขึ้น 0.25% ไปเรื่อยๆ แต่ล่าสุดเดือนนี้ตลาดเริ่มจะขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแรงกว่านี้ มาอยู่ที่ระดับ 0.50% ทำให้สัญญาณนี้ส่งผลให้สินทรัพย์ต่างๆ อย่างดอลลาร์จะมีการแข็งค่ามากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาด้วย และสัญญาณที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์ไหลออกอย่างต่อเนื่อง และยิ่งบาทอ่อนลงไปอีก ภาพของฟันด์โฟลว์ก็กระแทกไหลออกต่อ กลายเป็นว่า ตลาดเริ่มมีความกังวลอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

ช่วงถัดไปต้องมอนิเตอร์ตัวเลขเศรษฐกิจก่อน ซึ่งก่อนจะถึงการประชุมเฟดในวันที่ 22 มี.ค.นี้ ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์จะมีการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งตัวเลขแรงงาน และประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ถ้าเกิดหากตัวเลขเหล่านี้ยังมีความร้อนแรงมากๆ ที่ตลาดประเมิน แน่นอนว่า อัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค.นี้ก็จะเกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังอย่าให้ตลาดหลุดที่ 1,600 จุด ปรับลงไปบ้างระหว่างวันแต่ก็ยังคงมีแรงสู้กลับมาบ้าง แต่ยังไม่สามารถปลดล็อกไปได้เต็มๆ ถ้าตลาดปลดล็อกได้จะต้องกลับไปยืนที่ 1,635 จุดได้ แต่มองว่า SET ที่ 1,600 จุด ที่สามารถตั้งรับได้ทยอยเข้าซื้อได้ แต่ท้ายสุดแล้วต้องดูกันให้จบก่อนว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไร  

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์