ดาวโจนส์ปรับตัวลงในกรอบแคบ 58.06 จุด กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(8มี.ค.)ปรับตัวร่วงลง 58.06 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 58.06 จุด หรือ 0.18% ปิดที่ 32,798.40 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี500 ปรับตัวขึ้น 0.14% ปิดที่ 3,992.01 จุด และดัชนีแนสแด็กบวก 0.4% ปิดที่ 11,576.00 จุด
การซื้อขายถูกกดดันในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสูงกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขเปิดรับสมัครงานลดลงน้อยกว่าคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ตลาดจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้นเกินคาดถึง 517,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสเป็นวันที่ 2 โดยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ หลังจากที่ได้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้
ทั้งนี้ นายพาวเวลกล่าวย้ำในวันนี้ว่า เฟดยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ โดยเฟดจะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ
"เรายังไม่ได้ทำการตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับการประชุมในเดือนมี.ค. และที่สำคัญคือ เฟดไม่มีการกำหนดแนวทางเอาไว้ล่วงหน้า โดยการตัดสินใจของเฟดจะถูกกำหนดจากข้อมูลที่เข้ามา และแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป" นายพาวเวลกล่าว
นอกจากนี้ นายพาวเวลระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.ที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ถือเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ รวมทั้งตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์หน้า ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21-22 มี.ค.
นายพาวเวลกล่าววานนี้ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่ง
"ข้อมูลทางเศรษฐกิจล่าสุดแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของเฟดจะอยู่สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และหากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าเฟดควรคุมเข้มนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น เราก็จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
"แม้ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง หลังจากแตะจุดสูงสุดในปีที่แล้ว แต่กระบวนการทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% ยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกล และไม่ราบรื่น" นายพาวเวลกล่าว และเสริมว่าภารกิจในการต่อสู้เงินเฟ้อของเฟดยังคงไม่สิ้นสุด และเฟดจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนนี้ และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดในกรอบ 5.50-5.75% ในเดือนมิ.ย. รวมทั้งเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนายพาวเวลวานนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 72.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. และให้น้ำหนักเพียง 28.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
นายสตีเวน บลิทซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัททีเอส ลอมบาร์ด กล่าวว่า เฟดจะไม่ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
"เฟดจะไม่ออกจากวงจรดังกล่าว จนกว่านายเจอโรม พาวเวลจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอย และจนกว่าอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้น ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ เฟดจึงจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย"
"เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยอย่างแน่นอน และเฟดจะกดดันจนกว่าอัตราการว่างงานแตะระดับ 4.5% เป็นอย่างน้อย และผมคาดว่าอาจไปสูงถึง 5.5% ขณะที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับ 6.5% ก่อนที่สิ่งต่างๆจะชะลอตัวและปรับตัวลงอย่างแท้จริง" นายบลิทซ์กล่าวต่อสำนักข่าว CNBC
แบล็คร็อค ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุด 6% หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้ เพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้
"เราคิดว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 6% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่งเพื่อชะลอเศรษฐกิจ และเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงใกล้ 2%" นายริค ไรเดอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของแบล็คร็อคระบุ
ทั้งยังระบุในรายงานว่า "เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากกว่าคาด เนื่องจากไม่ได้มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเหมือนกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และความยืดหยุ่นดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหาของเฟดมีความซับซ้อนมากขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐก็เหมือนกับโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นสารที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้สูง แต่ก็มีความคงทนและมีความแข็งแกร่ง"