บทเรียนวิกฤติ Bank Run ‘2 ธนาคาร’ ล้มในสัปดาห์เดียว ความผิดอยู่ที่ใคร?
Silvergate ผู้ให้บริการด้านคริปโทฯ และ Silicon Valley Bank ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพประกาศปิดกิจการไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่ามกลางปัจจัยคล้ายกันหนึ่งข้อคือทั้งสองเผชิญวิกฤตขาดสภาพคล่องจนต้องขายสินทรัพย์แบบขาดทุน ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยระดับสูง
Key points
- Silvergate Capital และ Silicon Valley Bank ปิดกิจการเนื่องจากองค์ประกอบที่แตกต่างกัน ทว่าเหตุผลหนึ่งที่เหมือนกันคือทั้งสองต่างเผชิญวิกฤตขาดสภาพคล่องจากการที่คนแห่ถอนเงินออก
- ธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งสองแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเปลี่ยนสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตเป็นเงินสด โดยการขายแบบขาดทุนเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ในระดับสูง
- กูรูชี้ปัญหาดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นหากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง จากระดับ 0% มาที่ 4.75% ภายในปีเดียว และอาจแตะ 6% ในอนาคต
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาธนาคารที่มีความสำคัญสองแห่งในสหรัฐ อย่าง ‘Silvergate Capital’ หรือ SI ธนาคารผู้ให้บริการด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ ‘Silicon Valley Bank’ หรือ SVB ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพประกาศปิดกิจการ จนสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐที่ย่อตัวลงอย่างหนัก ส่งผลต่อเนื่องถึงดัชนีตลาดหุ้นในหลายภูมิภาค ทว่าแม้ทั้งสองธนาคารจะเข้าสู่สถานะปิดกิจการเหมือนกัน แต่ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดมากพอสมควร
สาเหตุการปิดกิจการของ ‘Silvergate Capital’
เหตุผลหลักที่ธนาคาร Silvergate Capital ประกาศปิดกิจการเนื่องจากลูกค้ารายใหญ่อย่าง FTX แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโทฯ ชื่อดัง ประกาศล้มละลายเมื่อปลายปีที่แล้ว จนแซม แบงค์แมน ผู้ก่อตั้ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีข้อหาด้านการทุจริตทางการเงินหลายกระทง ประกอบกับวิกฤตความเชื่อมั่นจากวงการคริปโทฯ จนนักลงทุนเร่งถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารดังกล่าวมากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.64 แสนล้านบาท) ภายในช่วงเวลาสั้นๆ ทำให้ธนาคารไม่มีเงินสดพอทำสำหรับหมุนเวียนในองค์กร
ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว Silvergate Capital ขาดทุนสะสม 1 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท)
ด้านหนังสือชี้ชวนการลงทุนของธนาคาร Silvergate Capital ระบุว่า ณ สิ้นเดือนก.ย.ปีที่แล้วบริษัทฯ มีเงินฝาก 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.389 แสนล้านบาท) มีสินทรัพย์ที่คล้ายเงินสดกว่า 1.9 พันล้านบาท (ประมาณ6.27 หมื่นล้านบาท) และสินทรัพย์ในรูปแบบการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีก 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.762 แสนล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม อีก 3 เดือนถัดไปเงินฝากดังกล่าวร่วงลงไปเกือบครึ่งอยู่ที่ 6.3 พันล้านบาท (ประมาณ 2.079 แสนล้านบาท) ส่งผลต่อเนื่องให้ช่วงสิ้นปี 2022 ธนาคารฯ ต้องขายสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งพันธบัตรรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดคิดเป็นเงินกว่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.881 แสนล้านบาท)
ที่สำคัญขณะนั้นเงินสดที่ได้จากการเปลี่ยนสินทรัพย์เสี่ยงเป็นเงินสดกลับมีมูลค่าน้อยลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อัตราส่วนวัดภาระหนี้สิน (Leverage Ratio) ของ Silvergate Capital ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดสุขภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ย่อตัวลงแตะระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2022 จาก 3 เดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 10.5%
อนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลให้ข้อมูลว่าอัตราส่วนวัดภาระหนี้สินระดับ 5.1% คืออัตราส่วนที่น้อยที่สุดที่เข้าเกณฑ์ ‘ฐานะทางการเงินดี’ (Well-Capitalized Banks) ของธนาคารพาณิชย์
สาเหตุการปิดกิจการของ ‘Silicon Valley Bank’
Silicon Valley Bank ปิดกิจการภายใต้คำสั่งของกระทรวงปกป้องการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากบริษัทฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องจากช่วงก่อนหน้าที่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพแห่ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างกะทันหันจนทำให้บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดกระแสเงินสดหมุนเวียน
ต่อมาเกร็กกอรี่ เบกเคอร์ ประธานกรรมการบริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ประกาศประกาศขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 2.25 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.425 หมื่นล้านบาท) เพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังจากที่ผ่านมาขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.94 หมื่นล้านบาท) จากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพื่อแก้ปัญหาสภาวะขาดเงินสด (Liquidate Securities) ดังกล่าว ท่ามกลางสภาวะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงแตะ 5%
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันเกร็กกอรี่ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาของบริษัทโดยมีใจความส่วนหนึ่งระบุทำนองว่า
“บริษัทฯ ไม่ทันได้ตั้งตัวเกี่ยวกับอัตราซื้อขายและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขนาดนี้”
จากคำกล่าวครั้งนั้นทำให้นักลงทุนจำนวนหนึ่งมองว่าเกร็กกอรี่บริหารงานผิดพลาด และตั้งคำถามต่อไปว่าอัตราดอกเบี้ยก็ปรับขึ้นมานานแล้ว แต่ทำไมเขาเพิ่งจะรู้ตัว ท้ายที่สุดจึงเกิดวิกฤตศรัทธาตามมา
เปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดเพื่อแก้ไขสถานการณ์
แม้ทั้งสองกรณีจะมีความแตกต่างในรายละเอียดอยู่บ้าง ทว่าน่าสนใจว่า ทั้งสองธนาคารต่างได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ใช้บริการแห่เข้ามาถอนเงินเนื่องจากเหตุผลเฉพาะตัวอย่างที่กล่าวไป ส่งผลต่อเนื่องให้บริษัทฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนสินทรัพย์ในพอร์ตเป็นเงินสดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวหรือ ‘Liquidate Securities’ แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง ผลตอบแทนของสินทรัพย์เหล่านั้นก็อยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้บริษัทฯ ขายพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์อื่นๆ แบบขาดทุน (Take Loss)
นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาของทั้งสองธนาคารนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเฟดไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากต่ำศูนย์มาถึง 4.75% ภายในช่วงปีที่แล้ว และก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นไปแตะ 6% ในอนาคต
“ปกติถ้าแบงก์มีเงิน 100% เขาจะไม่ปล่อยกู้ทั้งหมดเพราะถ้ามีคนมาถอนเงินทีละเยอะๆ แบงก์จะขาดสภาพคล่องเหมือนกรณีนี้ ดังนั้นส่วนใหญ่จึงแบ่งไปซื้อตราสารหนี้ด้วย แต่ซ้ำร้ายตราสารหนี้ดันอยู่ในขาลง ดอกเบี้ยขึ้นพอดี แบงก์จึงต้องยอม Take Loss เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องก่อน ซึ่งถ้ามีคนมาถอนเงินเยอะๆ สถาบันการเงินไหนก็ลำบากแบบที่เกิดขึ้นแล้ว”
อย่างไรก็ตาม หากเป็นธนาคารชั้นนำ 10 ลำดับแรกของสหรัฐก็อาจมีเงินทุนที่มากพอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ถ้าเป็นธนาคารรายกลางและรายเล็กก็อาจประสบกับปัญหาคล้ายกับสองธนาคารนี้ “จริงๆ ก็ต้องโทษโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐด้วย เขาไปแก้กฎหมายที่ว่าด้วยการทำ ‘Stress Test’ ของสถาบันการเงิน โดยปรับให้กลุ่มสถาบันการเงินขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องมีข้อเรียกร้องในการทำแบบทดสอบที่เข้มข้นเหมือนสมัยก่อน เหตุการณ์แบบนี้จึงเกิดขึ้น เป็นปัจจัยประกอบกับประเด็นอัตราดอกเบี้ยของเฟด”
มุมมองในอนาคต
นักวิเคราะห์มองว่าหากในอนาคตเฟดยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบต่อเนื่องยาวไปแตะ 6% การล่มสลายของ Silvergate Capita l และ Silicon Valley Bank จะไม่ใช่สองธนาคารสุดท้ายที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้
“ตรงนี้อาจจะเป็นสัญญาณบอกเฟดว่าหยุดเถอะ 5% หรือ 5.25% ก็พอแล้ว และรอดูผลกระทบ หรือ Collateral Damages ก่อน ถ้าหยุดได้จริง โอกาสที่จะลุกลามไปเป็น ‘โรคระบาดทางการเงิน’ ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ายังขึ้นดอกเบี้ยต่อก็อาจจะลามต่อไปได้”
ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันสหรัฐเผชิญกับวิกฤตฟองสบู่ในสินทรัพย์ ‘Low Quality’ และ ‘Long Duration’ เพราะจากการล่มสลายของทั้งสองธนาคารจะเห็นได้ว่า ทั้งสองมีฐานลูกค้าที่คล้ายกันคือกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ที่รายได้ไม่ค่อยจะมี และเป็นธุรกิจที่โตแบบ ‘Hyper Growth’ ดังนั้นสถานการณ์ในครั้งนี้นับเป็นตัวบ่งชี้ว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านี้ไปต่อไม่ไหวแล้ว และในอนาคตหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป สหรัฐก็อาจเผชิญกับวิกฤตฟองสบู่ในบอนด์อีกได้เช่นกัน
สมรภูมิจิตวิทยา
ท่ามกลางสถานการณ์หน้าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ย่อตัวลง มีความเป็นไปได้สูงมากที่ประชาชนในสหรัฐจะแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตในครั้งนี้ จนทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ได้รับผลกระทบในเชิงลบตามไปด้วย
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เช่น
- ขึ้นดอกเบี้ยแสดงความมั่นคงของธนาคาร
- ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีและกลุ่มลูกค้าของธนาคารไม่ใช่กลุ่มเดียวกับ Silvergate Capital และ Silicon Valley Bank ที่อยู่เป็นแบบ ‘Hyper Growth’