‘บิล แอคแมน’ เตือนเศรษฐกิจสหรัฐอาจล่มสลาย หากไม่เร่งแก้ปัญหา ‘Bank Run’
บิล แอคแมน นักลงทุนชื่อดังชาวสหรัฐเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเข้าสู่สภาวะล่มสลาย จากการที่ประชาชนแห่ไปถอนเงินในธนาคารพาณิชย์อื่น ด้านทางการตอบรับรวดเร็ว เข้าอุ้มเงินฝากของ SVB และออกมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์
บิล แอคแมน นักลงทุนชื่อดังชาวสหรัฐและผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ชื่อดัง กล่าวผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า สัญญาณเศรษฐกิจล่มสลายกำลังเกิดขึ้นในสหรัฐ หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลสรัฐเข้าไปปิด Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ
บิล แอคแมน กล่าวว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ประชาชนอาจตกอยู่ในภาวะสงครามทางจิตวิทยาและแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารพาณิชย์ แม้ธนาคารนั้นอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับ SVB ก็ตาม
อนึ่ง คำเตือนของบิล แอคแมนเผยแพร่ออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เกร็ก เบคเคอร์ ประธานกรรมการบริหารสูงสุด (ซีอีโอ) ของ SVB Financial Group ส่งข้อความในรูปแบบวิดีโอถึงพนักงานโดยยอมรับว่า 48 ชั่วโมงที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ ‘ยากอย่างไม่น่าเชื่อ’ ที่ท้ายที่สุดนําไปสู่การล่มสลายของธนาคารในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มี.ค.)
ทั้งนี้ SVB เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 16 ของสหรัฐ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่มีอัตราการเติบโตแบบไฮเปอร์ แต่ไม่มีกระแสเงินสดมากนัก โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่นาน หน่วยงานกำกับดูแลจึงสั่งการให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้ามาดูแลเงินฝากทั้งหมดใน SVB ทันทีหลังผู้รับบริการแห่ถอนเงินออกอย่างร้อนแรงในช่วงก่อนหน้า
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าการล่มสลายของ SVB ครั้งนี้เป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติทางการเงินในปี 2008
ล่าสุดทางการสหรัฐประกาศ
- อุ้มผู้ฝากเงินของ SVB ซึ่งมีอยู่เงินฝาก 1.754 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.76 หมื่นล้านบาท) ทั้งในกรณีที่มีการค้ำประกันจาก FDIC และไม่มีค้ำประกันก็ตาม ซึ่งหมายความว่า คนที่ฝากเกิน 2.5 หมื่นดอลลาร์ (ประมาณ 8.25 แสนบาท) ก็จะได้เงินคืน ตั้งแต่เช้าวันจันทร์เป็นต้นไป
- ให้ความช่วยสภาพคล่องแก่ธนาคารที่เหลือ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศ ‘Bank Term Funding Program’ ขนาด 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.25 แสนล้านบาท) ให้ธนาคารสามารถนำพันธบัตรรัฐบาลหรือ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) มาแลกเป็นสภาพคล่องได้ที่ราคาหน้าพันธบัตร