‘กูรูตลาดทุน’ ชี้หุ้นไทยผันผวน แนะเกาะติดวิกฤติแบงก์สหรัฐ ยุโรป-ประชุมเฟด

‘กูรูตลาดทุน’ ชี้หุ้นไทยผันผวน แนะเกาะติดวิกฤติแบงก์สหรัฐ ยุโรป-ประชุมเฟด

"นักลงทุนรายใหญ่-โบรกเกอร์" ชี้หุ้นไทยผันผวนต่อเนื่อง แนะเกาะติดวิกฤติแบงก์สหรัฐ-ยุโรป และประชุมเฟด เลี่ยงเก็งกำไร เน้นลงทุนในระยะยาว

พลันที ! เกิดปรากฎการณ์ปิดตัวลงของ “3 ธนาคารพาณิชย์” ในสหรัฐ เพียงแค่สัปดาห์เดียว ทั้งธนาคารซิลเวอร์เกท , ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และ ธนาคารซิกเนเจอร์ และล่าสุด ธนาคารเครดิต สวิส ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ “นักลงทุนทั่วโลก” ซึ่งกังวลว่าจะลามไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่

แม้ว่าทุกฝ่ายเชื่อว่าจะไม่เลวร้ายถึงขั้นเกิดเป็น “วิกฤติการเงินโลก” แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย (Recession)

ผลกระทบแรกที่ชัดเจน คือ ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วน เม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตลาดหุ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่ง และย้ายเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย คือ “ทองคำ-ดอลลาร์”

สอดคล้องกับดัชนีตลาดหุ้นไทยที่พบว่าเปิดการซื้อขายในวันที่ 14 มี.ค. 2566 ดัชนีปรับตัวลดลงแรง “ต่ำสุด” ของวันที่ 54.41 จุด มาอยู่ที่ 1,518.66 จุด ก่อนจะเริ่ม “ดีดตัวกลับ” ขึ้นมาในช่วงท้ายการซื้อขายมาปิดตลาดที่ระดับ 1,523.89 จุด ลดลง 49.18 จุด หรือ 3.13% ด้วยมูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) 103,828.81 ล้านบาท ระดับดังกล่าวถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน

 

"นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ "วีไอ” วิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังคง “ผันผวน” ต่อเนื่อง แต่ยังสามารถลงทุนได้ โดยให้เลือกลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก “ปัจจัยกดดัน” เพราะไม่มั่นใจระบบการเงินของสหรัฐและยุโรป ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก โดยมองการล้มของแบงก์ในสหรัฐ หรือ ธนาคารเครดิต สวิส มีปัญหานั้น มองเป็นปัญหาปลายเหตุแล้ว 

เนื่องจากจุดเริ่มต้นมาจากการ “เก็งกำไร” ในกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัป และ คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งแบงก์มีการปล่อยกู้ในธุรกิจดังกล่าวเพื่อเก็งกำไรในช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่เมื่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีปัญหาก็ลามมาที่แบงก์ปล่อยกู้ด้วย 

‘กูรูตลาดทุน’ ชี้หุ้นไทยผันผวน แนะเกาะติดวิกฤติแบงก์สหรัฐ ยุโรป-ประชุมเฟด เสี่ยป๋อง "วัชระ แก้วสว่าง” นักลงทุนรายใหญ่สไตล์เทคนิค เจ้าของพอร์ตหลัก “พันล้าน” บอกว่า สถานการณ์ปัจจุบันในมุมของการลงทุนถือว่า “เหนื่อย !” ต้องติดตามทุกความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะปัจจัยลบจากต่างประเทศล้วนๆ เดิมมองว่าจากการล่มสลายของ 3 แบงก์ในสหรัฐน่าจะไม่รุนแรง และไม่ลามเป็นวิกฤติทางการเงินโลก

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยคงต้องบอกว่าคาดเดาได้อยาก แต่หากดูจากกราฟเทคนิค หากปลายเดือนมี.ค. 2566 “ดัชนีหุ้นไทยไม่หลุด 1,542 จุด” แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยังไปต่อได้ ที่บอกว่าต้องรอดูปลายเดือนมี.ค. เพราะเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ดัชนีหุ้นไทยหลุดไปแล้ว แต่สามารถกลับมายืนเหนือ 1,542 จุดได้

แต่หากเลวร้ายดัชนีหลุด 1,542 จุด และไม่สามารถยืนได้ตอนนั้นถือว่าเป็น “สัญญาณไม่ดี” แล้ว ดังนั้นต้องรอประเมินสถานการณ์กันใหม่ทุกวัน เนื่องจากมีเหตุการณ์ หรือประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน 

อย่างไรก็ตามกลยุทธ์การลงทุนในตอนนี้เลือกถือ “เงินสด” และ “ลดพอร์ตลงทุน” เพื่อรอจังหวะซื้อเมื่อตลาดหุ้นไทยฟื้น สะท้อนผ่านปัจจุบันพอร์ตลงทุน “ติดลบ”แล้ว ในเดือนก.พ.

“อนุรักษ์ บุญแสวง” หรือ “โจ ลูกอีสาน” อดีตนายกสมาคม “วีไอ” มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทย ว่า ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาค่อนข้างแรง หลักๆ มาจากการขายสุทธิของ “นักลงทุนต่างชาติ” ซึ่งเห็นภาพจากหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยกระทบหลักๆ มาจากต่างประเทศที่มีปัญหาความเชื่อมั่นในภาคการเงิน หลังจากแบงก์ในสหรัฐล้ม จากการบริหารผิดพลาดของแบงก์เอง 

ขณะที่ไทยเชื่อว่าผลกระทบจะไม่รุนแรง เพราะเป็นปัญหานอกบ้านไม่เหมือนสมัยปี 2540 “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งหากปัญหาในสหรัฐและยุโรปลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมในภาคส่งออก เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี   ในฐานะนักลงทุนก็ต้องติดตามสถานการณ์กันต่อเนื่อง และเลือกลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

“ไม่คิดลดพอร์ตลงทุน เพราะมองว่าเมื่อฝุ่นหายตลบตลาดหุ้นก็จะกลับมาเหมือนทุกครั้งที่เกิดวิกฤติขึ้น ตอนนี้เตรียมเงินสดไว้รอจังหวะซื้อหุ้น ”

"โบรกฯ" มองหุ้นไทยยังผันผวนต่อ 

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัด มีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทย 3 เดือนข้างหน้าว่า ดัชนีหุ้นไทยยังคงผันผวน เพราะยังประเมินสถานการณ์ของสถาบันการเงินทั้งในสหรัฐและยุโรปต้องใช้เวลาบล็อกปัญหาไม่ให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ได้แค่ไหน เพราะทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นต้นตอปัญหาก็ยังอยู่ในขาขึ้น

ทั้งนี้ยังมองไม่เห็นภาพของการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ มีแต่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เปรียบเหมือนช่วงโควิด-19 ที่คนที่ติดโควิดเต็มไปหมด คนที่อ่อนแอก็อัดยาฟาวิพิราเวียร์รักษา สถานการณ์แบงก์ตอนนี้ก็เหมือนกันแบงก์มีปัญหา ธนาคารกลางก็เข้าไปช่วยเหลือด้วยการอัดเงินเข้าไป แต่ภาพของการแก้ปัญหาที่แท้จริงยังไม่เห็นเลย

“ตลาดหุ้นถือว่ายังมีความเสี่ยง เพราะตอนนี้ปัญหากำลังดันทุกคนให้มายืนที่หน้าผา โดยเฉพาะดอกเบี้ยขาขึ้น”

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ทิสโก้  มองว่าในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความ “ผันผวน” ไม่ควรเป็นนักลงทุนระยะสั้น  เพราะการลงทุนควรรอได้ ซึ่งมองว่าข่าวร้ายๆในต่างประเทศ อาจจะยังมีอยู่บ้าง ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอยแน่นอนจะต้องมีเหตุการณ์ที่คาดฝันไม่ถึงโผล่ขึ้นมาได้ในยามที่เศรษฐกิจไม่เติบโต หย่อมจะนำมาซึ่งปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง การลงทุนในระยะสั้นๆ ก็จะดูไทม์มิ่งยาก 

ดังนั้นแนะนำนักลงทุนในภาวะความไม่แน่นอนยังสูง ให้ลงทุนระยะยาว เพราะวันนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ตอบได้คือหุ้นจะรีบาวน์ แต่ไม่มีใครตอบได้จะขึ้นไปมากแค่ไหน และยังไม่มีใครรู้ว่าเฟดจะเลือกดำเนินนโยบายอย่างไร ดังนั้น แนะนำเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่มีเงินปันผล อย่างน้อยแม้ราคาหุ้นจะร่วง แต่นักลงทุนยังได้รับเงินปันผล และสุดท้ายหุ้นก็คือหุ้น ก็ต้องกลับไปสะท้อนที่ราคาพื้นฐานจริง

“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมองตลาดหุ้นไทย ว่า ระยะสั้นยังคงผันผวนต่อ จนกว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากปัญหาการล้มของแบงก์สหรัฐ และเครดิตสวิส มีปัญหา ซึ่งปัจจุบันปัญหาได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้าไปแล้ว โดยนาคารกลางได้เข้าไปเสริมสภาพคล่อง ดังนั้น มองว่าปัญหาน่าจะจบแล้ว แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือการประชุมของเฟด แต่มองว่าเฟดคงไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ยแรง

ขณะที่ปัจจัยในไทยการเลือกตั้ง หากไทม์ไลน์ยังเป็นไปตามที่มองว่าสัปดาห์นี้จะมีการยุบสภาและเดินหน้าเลือกตั้ง อาจจะทำให้บรรยากาศลงทุนมีทิศทางดีขึ้น