ดาวโจนส์ทะยาน 194 จุด นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยง หลังคลายกังวลวิกฤตแบงก์
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(27มี.ค.)ปรับตัวขึ้น 194 จุด ขณะที่นักลงทุนหันเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังคลายความกังวลต่อวิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 194.55 จุด หรือ 0.6% ปิดที่ 32,432.08 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 0.2% ปิดที่ 3,977.53 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวลง 0.5% ปิดที่ 11,768.84 จุด
หุ้นกลุ่มธนาคารพุ่งขึ้นนำตลาดวันนี้ ขานรับข่าวธนาคารเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์ เข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์
ส่วนหุ้นดอยซ์แบงก์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นเช่นกัน ขณะที่นักวิเคราะห์จากซิตี้กรุ๊ปยังคงแนะนำให้นักลงทุน "ซื้อ" หุ้นดอยซ์แบงก์ แม้ราคาหุ้นดิ่งลงกว่า 3% เมื่อวันศุกร์ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของทางธนาคาร
นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนหลังมีข่าวว่า ทางการสหรัฐกำลังพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมต่อภาคธนาคาร ซึ่งจะทำให้ธนาคารเฟิร์สต์ รีพับลิค แบงก์ มีเวลามากขึ้นในการเพิ่มสภาพคล่อง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 60% ในการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนพ.ค. และจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค. ซึ่งเร็วกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 33.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 22 มี.ค. ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่เป้าหมาย 2%
นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เฟดส่งสัญญาณไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยเฟดจะเริ่มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)