อิทธิพล "ดัชนี DELTA" แรงหนุน และแรงกดดันหุ้นไทย
อิทธิพลที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งปัจจัยในต่างประเทศ สหรัฐดำเนินการมาตรการดูแลแบงก์ขนาดกลาง และขนาดเล็กไม่ให้เกิดกรณี Bank run หรือปัจจัยในประเทศกับการประชุม กนง. และรายงานเศรษฐกิจไทย
ล้วนไม่มีผล และมีน้ำหนักมากเท่าหุ้นเดียวที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA สามารถกำหนดทิศทางดัชนีหุ้นแทน !!
ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น DELTA ขยับเพิ่มขึ้น 14.55% จากราคา 996.93 บาท (27 มี.ค.)มาปิดที่ 1,142 บาท (31 มี.ค.) และตลอดทั้งเดือนมี.ค. ราคาเพิ่มขึ้น 14.7% จากราคา 1,000 บาท
เปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นไทยทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 1% มาปิดตลาดที่ 1,609.17 จุด (31 มี.ค.) แต่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยไม่ถึง 50,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อขายที่เบาบางลงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทย
ดังนั้นจึงสะท้อนได้ว่า ภายใต้การซื้อขายหุ้น DELTA แรงดัน และหนุนตลาดหุ้นไทยให้ยืนเหนือ 1,600 จุดได้ ท่ามกลางซื้อขายที่เบาบาง และหุ้นกลุ่มอื่นที่มีน้ำหนักต่อดัชนี เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มพลังงาน ราคาหุ้นแทบจะไม่ได้ไปไหน
รวมทั้งยังมีการทำปิดงวดบัญชีการลงทุน "Window Dressing " ไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งคือ 31 มี.ค. 2566 ทำให้มีประเด็นการ “ไล่ทำราคา” เพื่อดันดัชนีปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งต้องใช้หุ้นกลุ่มใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคปในตลาดพร้อมใจกันปรับตัวขึ้นถึงจะทำได้ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นหุ้นตัวเดียวก็สามารถทำได้แล้ว
คุณสมบัติของหุ้น DELTA ที่กลายเป็นหุ้นชี้นำดัชนีไปโดยปริยาย ด้วยผ่านเกณฑ์คำนวณดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยการนำสัดส่วนฟรีโฟลต (Free Float) เข้ามาประกอบทั้งที่มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเทียบกับหุ้นบิ๊กแคปคืออยู่ที่ 22%
หากแต่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปขึ้นแท่นอันดับ 1 แซงหน้าทั้ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อยู่ที่ 899,734 ล้านบาท และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOT อยู่ที่ 1,014,284 ล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย
โดย ณ 31 มี.ค 2566 DELTA มีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 1,424,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ในระยะเวลา 3 เดือนถึง 4 แสนล้านบาท ด้วยอัตรากำไรต่อหุ้น (P/E) 92.83 เท่า หรือหมายความว่า หากลงทุนในหุ้นดังกล่าวจะได้กำไรตามราคาหุ้นในอีก 92 ปีข้างหน้า จึงทำให้ DELTA เป็นหุ้นใหญ่ที่ราคาแพงอย่างแท้จริง
ประเด็นของหุ้นดังกล่าวยังอยู่ที่จำนวนหุ้นที่อยู่ในตลาดมีจำนวนจำกัด เพราะด้านผู้ถือหุ้นไม่มีใครขายหุ้นออกมาเพิ่มฟรีโฟลต ทำให้หุ้นถูกหมุนรอบไปมาด้วยราคาที่สูงขึ้น จนเมื่อราคาหุ้นเข้าเกณฑ์ เปลี่ยนแปลงหน่วยการซื้อขายหุ้น จากเดิมหน่วยละ 100 หุ้น เป็น 50 หุ้น ไปเมื่อต้นก.พ.ที่ผ่านมา เนื่องจากหลักทรัพย์มีราคาปิดตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป เป็นระยะเวลา 6 เดือนติดต่อกัน
หากแต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของหุ้นตัวนี้ที่มีอิทธิพลกับดัชนีหุ้นไทยได้ เพราะสัดส่วนหุ้นยังอยู่เท่าเดิมที่เปลี่ยนแปลงไปคือ จำนวนเงินของนักลงทุนซื้อ - ขายสัดส่วนน้อยลงได้ แต่จำนวนหุ้นยังหมุนรอบเปลี่ยนมือได้เร็วเช่นกัน
จนบริษัทมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการประกาศแตกพาร์เป็น 0.1 บาท จากเดิม 1.00 บาท ตามที่ตลาดเคยคาดหวัง ซึ่งจะทำให้หุ้นมีสภาพคล่องดีขึ้น และเป็นราคาหุ้นที่กระจายไปยังนักลงทุนรายย่อยเข้าลงทุนได้อีกด้วย ซึ่งไม่มีผลต่อมูลค่าพื้นฐานราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป
เนื่องจากหากราคาหุ้นสูงกว่า 900 บาท ซื้อขายขั้นต่ำล็อตละ 50 หุ้นเป็นเงิน 45,000 บาท กรณีที่แตกพาร์แล้วราคาหุ้นระดับ 90 บาท ซื้อขายล็อตละ 100 หุ้นใช้เงินแค่ 9,000 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น DELTA ยังไม่หยุดความร้อนแรงเพราะทะลุ 1,000 บาททำ all time high จนติดเกณฑ์ Cash Balance ล่าสุด 3 – 21 เม.ย. จึงเห็นแรงขายลงมาแรงมาปิดที่ 970 บาทลดลง 172 บาท หรือ 15%
คลายแรงกดดันหุ้นตัวเดียวต่อดัชนีหุ้นไทยจากแรงขายระยะสั้น เพราะหากถ้าติด Cash Balance เกิน 3 เดือน จะต้องหลุดจากการคำนวณ SET50 และ SET100 ตามมา
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์