อลหม่าน STARK ไม่พ้นเสี่ยง “หุ้นกู้ – เครดิต” จ่อเคลียร์

อลหม่าน STARK ไม่พ้นเสี่ยง   “หุ้นกู้ – เครดิต” จ่อเคลียร์

ความอลหม่านของสถานการณ์การเงิน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับมาโฟกัสที่ วาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 28 เม.ย. นี้ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และกระทบไปยังกองทุน – สถาบันการเงิน รวมไปถึงเครดิตของบริษัทในอนาคต

หลังจากบริษัทเผชิญปัญหาไม่สามารถส่งงบการเงินไตรมาส 4 ปี 2565 ได้ตามกำหนดหลังมีกระแสข่าวว่าเกิดรายการผิดปกติทำให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ จนกลายเป็นประเด็นไปถึงฐานะทางการเงินของบริษัทส่อแววมีปัญหา

จนกระทั่ง 18 เม.ย. ที่ผ่านมากรรมการพร้อมด้วยผู้บริหาร โดยมี “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ในฐานะประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร ยื่นลาออกถึง 7 คนรวด หลังจากนั้น “ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เข้ามาคุมสถานการณ์

 

 

 

ด้วยการตั้งกรรมการชุดใหม่ 5 คน “ พันตำรวจโทปกรณ์ สุชีวกุล” ประธานกรรมการบริษัท / กรรมการอิสระ “อภิชาติ ตั้งเอกจิต” กรรมการ / กรรมการสรรหา และพิจารณาค่าตอบแทน“เสนธิป ศรีไพพรรณ” กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ / ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน “สุวัฒน์ เชวงโชติ” กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ “นพดล ธีระบุตรวงศ์กุล” กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ

พร้อมเตรียมจัดทำ การตรวจสอบพิเศษ (Special Auditing) จากข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการ และการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในช่วงเดือนพ.ค.- มิ.ย. 2566

ระหว่างที่ตรวจสอบงบการเงินปัญหาของ STARK ยังไม่คลี่คลาย และยังสร้างความระทึกให้กับตลาดหุ้นไทย แม้ราคาหุ้นจะหยุดพักการซื้อขาย (SP) ตั้งแต่ 28 ก.พ. ที่ราคา 2.38 บาท ปรับตัวลดลงตั้งแต่ม.ค. ราคาหุ้นปิดที่ 3.08 บาท

จากปัญหาหนี้ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจซึ่งมีแบงก์ใหญ่ถึง 2 แห่ง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จากงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ทั้ง 2 ธนาคารจำเป็นต้องตั้งสำรองฯ ทันที

KBANK พบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว เนื่องจากอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงใช้สำรองส่วนเกิน Management overlay ที่ตั้งไว้เผื่อราว 20% ของสำรองทั้งหมด เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากลูกหนี้ราย

ขณะที่ SCB ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และการตั้งสำรองส่วนเพิ่มสำหรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง หากเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการตั้งสำรอง ECLเพิ่มขึ้นถึง 40.2%

การยอมตั้งสำรองฯ ถือว่า 2 แบงก์ใหญ่ได้ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้เรียบร้อยหรืออาจจะเรียกได้ว่าจบเคสลูกหนี้รายดังกล่าวแม้จะมีการผิดนัดชำระหนี้ในภายหลังก็ตาม

ถัดมาคือ “หุ้นกู้” ซึ่งมีมูลค่า 9,198 ล้านบาท รวม 5 รุ่น ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 (STARK239A) ซึ่งหุ้นกู้ STARK239A มีมูลค่า 1,291.5 ล้านบาท ,ครั้งที่ 1/2564 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 (STARK249) ซึ่งหุ้นกู้ STARK249 มีมูลค่า 949.5 ล้านบาท ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 (STARK255A) ซึ่งหุ้นกู้ STARK255A มีมูลค่า 1,701.1 ล้านบาท 

ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 (STARK245A) ซึ่งหุ้นกู้ STARK245A มีมูลค่า 1,322 ล้านบาท และครั้งที่ 2/2565 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2567 (STARK242A) ซึ่งหุ้นกู้ STARK242A มีมูลค่า 3,934.3 ล้านบาท ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 28 เม.ย. นี้ เพื่อให้ผ่านอนุมัติ ยกเว้นเหตุผิดนัดชำระที่เกิดจากการส่งงบล่าช้า หากออกมาตรงกันข้าม “ไม่ยกเว้น” จะเป็นเหตุให้ผิดนัดชำระ และสามารถเรียกร้องให้ชำระหนี้ทันที

ล่าสุดสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง “ทริส” ลดอันดับเครดิต STARK ลงสู่ระดับ BB- จาก BBB+ ในขณะที่ยังคงเครดิตพินิจแนวโน้ม Negative เช่นเดิม และอาจปรับลดเครดิตลงสู่ C หรือ Dหรือ Junk Bond

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์