‘STARK’เขย่าหุ้นกู้ทั้งระบบ ThaiBMA หวั่นสะเทือนความเชื่อมั่น

‘STARK’เขย่าหุ้นกู้ทั้งระบบ ThaiBMA หวั่นสะเทือนความเชื่อมั่น

‘STARK’ เขย่าหุ้นกู้ทั้งระบบ ‘ไทยบีเอ็มเอ’ หวั่นสะเทือนเชื่อมั่น-สมาคมบลจ.ขอเคลียร์ผู้บริหาร หุ้นใหญ่จี้ ‘ตั้งคารวคุณ’ เร่งแก้ปัญหา เหตุกระทบวงกว้าง

 กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ STARK ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดปี 2565 ล่าช้า ประกอบกับวันที่ 19 เม.ย.คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ยกทีมลาออก (ยกเว้นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ) ยิ่งเป็นประเด็นสร้างความกังวลแก่นักลงทุนว่า บริษัทเริ่มมีสัญญาณที่ไม่ค่อยดี  และอาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระนี้

 นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า หุ้นกู้ STARK ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 ต้องติดตามการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ว่าผู้ถือหุ้นกู้จะโหวต วาระ1การยกเว้นเหตุผิดนัดอันเกิดจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้ส่งงบการเงินประจำปี 2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

ทั้งนี้หากโหวตวาระ 1 ไม่ผ่าน จะไปพิจารณาวาระ 2การเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระโดยพลัน

 ซึ่งหากโหวตผ่าน ถือเป็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระตามกฎหมายและสามารถเรียกให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้หุ้นกู้ทั้งหมดไม่ต้องรอครบกำหนดแต่การเรียกชำระคืนหนี้หลังจากนั้น ยังมีกระบวนการเจรจาตกลงกันต่อไปได้

 ส่วนหุ้นกู้ STARKจะมีรุ่นที่ครบกำหนดจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 12 พ.ค. จำนวน 2รุ่น วงเงินรวม 30 ล้านบาทและ 17 พ.ค. จำนวน 1รุ่น วงเงิน 38 ล้านบาท เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะวงเงินชำระหนี้ดอกเบี้ยไม่มาก เมื่อเทียบกับสภาพคล่องระดับนี้แต่งวดชำระหนี้เงินต้น 4 ก.ย. จำนวน 1 รุ่น วงเงินราว 1,300 ล้าน ยังต้องจับตาว่าบริษัทฯ จะมีเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่

สำหรับปัญหาของ STARKในแง่มูลค่าอาจไม่กระทบตลาด แต่ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อ เซนทริเม้นท์ตลาด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เหมือนกันเพราะแม้ว่าจะเป็นหุ้นกู้กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade)ก็มีโอกาสที่จะมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ได้ และต่อไปงบการเงินของบริษัทจะยังเชื่อถือต่อไปได้หรือไม่ ในการใช้พิจารณาการลงทุนหุ้นกู้ อาจเป็นเรื่องของการกำกับกิจการ ที่จะต้องมีการพิจารณาวิธีปฏิบัติเพิ่มเติมด้วยหรือไม่

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบคณะผู้บริหารของSTARKแล้ว ซึ่งขณะนี้เพียงแต่รอทางบริษัทตอบรับกลับเท่านั้นว่า จะสามารถเข้าไปพูดคุยกันได้เมื่อไหร่ หรือจะตอบกลับมาเป็นเอกสาร

โดยทางที่ประชุมสมาคมฯ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในฐานะผู้ถือหุ้น STARK หรืออาจมีในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ ของSTARKได้มีความเห็นตรงกันที่จะต้องขอพบคณะผู้บริหารบริษัทฯ เพื่อพูดคุยในเชิงลึก และขอแนวทางปฏิบัติ วิธีการและระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาของบริษัท

รวมถึงการบริหารบริษัทฯให้เกิดความโปร่งใส จะมีแนวทาดำเนินการอย่างไรต่อไปบ้าง และคงต้องรอบริษัทฯ ส่งงบการเงินล่าสุดให้ได้ก่อน เพื่อผู้จัดการกองทุนฯ ใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจการลงทุนหุ้นดังกล่าวต่อไป

“จากขณะนี้เรารับรู้มีแต่กระแสข่าวเชิงลบขอบริษัทฯที่ออกมา อีกทั้งกรณีบริษัทฯ ส่งงบการเงินไม่ได้ตามกำหนดถึง 3 ครั้งถือเป็นเรื่องของธรรมภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เราค่อนข้างกังวลมากและคาดไม่ถึง ทำให้เราต้องได้รับคำตอบจากบริษัทฯ ที่ชัดเจน”

นางชวินดา กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวไม่น่ากังกลจะส่งผลกระทบต่อกองทุนหุ้นไทยในภาพรวมและของบลจ.ที่ถือหุ้น STARK  เพราะเชื่อว่า ผู้จัดการกองทุนได้ปรับพอร์ต ลดสัดส่วนการลงทุนหุ้นดังกล่าวไปก่อนหน้านี้มากแล้ว และประเด็นดังกล่าวแทบไม่มีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยและกองทุนหุ้นไทย แต่อาจจะกระทบต่อเซนทริเม้นท์การลงทุนระยะสั้นเท่านั้น

ด้านหนึ่งในผู้ถือหุ้น (รายใหญ่) STARK  กล่าวว่า ฐานะการเงินของSTARKที่มีปัญหาจนถูกขึ้นเครื่องSP ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายอยู่แล้ว และทำอะไรไม่ได้เพราะไม่สามารถซื้อขายหุ้นได้ ซึ่งดูจากงบการเงินแล้วเหตุกาณ์แบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะงบการเงินที่ผ่านมาไม่ได้เสียหายอะไร

สำหรับงบการเงินที่ผ่านมาก็ทราบมาตลอดว่าบริษัทมีหนี้ที่สูงอยู่แล้ว แต่ด้วยการเติบโตขนาดนี้ทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นได้ ส่วนประเด็นเรื่องกระแสเงินสดที่มีการพูดถึงกันว่าต่ำมากจนทำให้เกิดปัญหานั้น เรื่องนี้อยู่ที่เครดิตเทอมของบริษัทที่มีระยะเวลานาน 3 -6 เดือนและ 1 ปี แต่ด้วยสถาบันการเงินรายใหญ่ยังให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าไม่มีปัญหาในช่วงนั้น

ทั้งนี้หากมองในด้านการลงทุนเริ่มมีความผิดปกติตั้งแต่ราคาหุ้นปรับตัวลง เพราะการดูหุ้นที่ลงทุนในสไตล์ตามประสบการณ์ของตนจะดูว่าถ้าตัวเลขการเงินดูดีหมดทุกอย่าง แต่อาการราคาหุ้นกลับร่วง นั้นคือ "ความผิดปกติ”

โดยหลังจากนี้หากบริษัทแก้ไขงบการเงินและเปิดเผยได้เมื่อไรตนต้องมาพิจารณาการลงทุนว่าไปในทิศทางไหน หลังจากหุ้นกลับมาเปิดทำการซื้อขายได้

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาวันนี้ของ STARK ควร “ทำเต็มที ไม่ควรล้อเล่น “ เพราะนักลงทุนทั้งกองทุน สถาบัน รายใหญ่ หรือรายย่อย รวมไปถึงผู้ถือหุ้นกู้หลายพันคน มองไปที่ครอบครัว “ตั้งคารวคุณ” ที่ให้ความเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็น คุณ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ลูกชายคนโต และเจ้าสัวประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ผู้ก่อตั้งธุรกิจใหญ่ระดับประเทศของไทยอย่าง TOA ผ่านปัญหามากมายและมีชื่อเสียงมานาน

“ธุรกิจ STARK มาจากคนที่พร้อม ทั้งคุณวนรัชต์ และครอบครัว ตั้งคารวคุณ ไม่ใช่มาจากไหนไม่รู้ว่ามีทุน มีฐานทุนแค่ไหนเพราะถ้าเข้ามาแล้วไม่พร้อมอันนี้น่าห่วง แต่มองแล้ว ศึกษาแล้ว พูดคุยแล้ว มีทั้งฐานทุน มีทั้งความสามารถที่จะทำให้ STARK กลับมาแข็งแกร่งได้ ซึ่งทางคุณวนรัชต์เข้ามาแก้ไขปัญหาแล้ว มองว่าจุดนี้ไม่น่าห่วง”

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีความเสี่ยงจาก STARK ต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ทั้งKBANK และธนาคารไทยพาณิชย์  ที่มีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ ได้ถูกรับรู้ไปแล้ว ผ่านการตั้งสำรองของทั้งสองธนาคารที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้KBANKมีการตั้งสำรอง จากการปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK แล้วราว 80-90% จากการคาดการณ์วงเงินปล่อยกู้ทั้งหมดกว่า 8พันล้านบาท ขณะที่SCBมีการตั้งสำรองเกือบเต็มจำนวนไปแล้วในไตรมาส1 ปี 2566  จากการเข้าไปปล่อยกู้คาดไม่เกิน 2พันล้านบาท ส่งผลให้สำรองของทั้ง 2 ธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

โดยฝ่ายวิจัยยังคงแนะนำ ซื้อทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่ง KBANKให้ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 160 บาทต่อหุ้น และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดยให้ราคาอยู่ที่ 122บาท และเชื่อว่าข้างหน้าหุ้นทั้ง 2 ธนาคารจะมีอัปไซด์ค่อนข้างมาก จากมาจิ้นที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้นจึงน่าลงทุน 

นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า STARK ได้แจ้งตลท.แล้วว่าจะส่งงบการเงินงวดปี 2565 ภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 โดยจะต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถส่งงบการเงินได้หรือไม่

ทั้งนี้ตามเกณฑ์ของตลท.แล้วเมื่อบริษัทไม่สามารถส่งได้ตามกำหนด ตลท.จะขึ้น SP หลังจากนั้นบริษัทจะต้องส่งงบการเงินภายใน 6 เดือนนับจากวันแรกที่ขึ้นเครื่องหมาย SP ซึ่งหากยังไม่สามารถส่งงบการเงินได้ ก็จะเข้าข่ายบริษัทที่ถูกเพิกถอนโดยจะมีระยะเวลาในการแก้ไขเหตุการเพิกถอน