ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ 66 จุด ขาดปัจจัยชี้นำจากเจ้าหน้าที่เฟด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(24เม.ย.)ปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ 66 จุด โดยนักลงทุนขาดปัจจัยชี้นำจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็น (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 2-3 พ.ค.
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวขึ้น 66.44 จุด หรือ 0.2% ปิดที่ 33,875.40 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้น 0.09% ปิดที่ 4,137.04 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 0.29% ปิดที่ 12,037.20 จุด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี
ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 10% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
ทั้งนี้ สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ชะลอตัวลง แต่ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟด
ส่วนรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค.ของเฟดระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เจ้าหน้าที่เฟดบางรายแสดงความกังวลว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมเมื่อเดือนที่แล้วที่ระดับ 3.6%
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เม.ย. โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนี CPI