First Republic Bank จ่อขายสินทรัพย์ราว 4 ล้านล้าน ดันสภาพคล่อง - ฟื้นสถานการณ์

First Republic Bank จ่อขายสินทรัพย์ราว 4 ล้านล้าน ดันสภาพคล่อง - ฟื้นสถานการณ์

“ธนาคาร เฟิร์สท์ รีพับลิค” พิจารณาขายสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์  ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.65 - 3.3 ล้านล้านบาท)  หวังพยุงสถานการณ์ หลังเมื่อวานนี้หุ้นร่วงหนัก 49.38% เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อประเด็นที่มีผู้คนแห่มาถอนเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ธนาคาร เฟิร์สท์ รีพับลิค (First Republic Bank) หรือ FRB อยู่ในขั้นตอนพิจารณาขายสินทรัพย์จำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.65 - 3.3 ล้านล้านบาท)  เพื่อเสริมสภาพคล่อง และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กร

แหล่งข่าววงในของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่าธนาคาร ต้องการขายสินทรัพย์เพื่อลดความ “ไม่สอดคล้องกัน” ระหว่างสินทรัพย์ (Assets) และหนี้สิน (Liabilities) ของธนาคาร ซึ่งเป็นปัจจัยชุดหนึ่งที่ทำให้ธนาคาร เฟิร์สท์ รีพับลิค สั่นคลอนหลังจากประสบปัญหาแบงก์รันในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ สินทรัพย์ที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะขายประกอบด้วย สินทรัพย์ระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการจำนอง และหลักทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน (Long-dated Mortgages and Securities)

โดยผู้ที่มีศักยภาพที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค คือ บรรดากลุ่มธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ​ และผู้ซื้อเหล่านั้นอาจได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrants) หรือหุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Equity) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินทรัพย์เหล่านั้นด้วยมูลค่าสูงกว่ามูลค่าตลาด

โดยเมื่อคืนนี้ (25 เม.ย.) หุ้นธนาคาร เฟิร์สท์ รีพับลิค ปิดตลาดระดับ 8.10 ดอลลาร์ ลดลงไป 7.90 ดอลลาร์ หรือ ลดลงไปราว 49.38% สาเหตุหลักเป็นเพราะธนาคาร เปิดเผยว่า ลูกค้าถอนเงินฝากในช่วงไตรมาสแรกสูงกว่าที่คาดหลายฝ่ายคาดการณ์  กล่าวคือ เงินฝากในไตรมาสแรกลดลง 40% มาอยู่ที่ 1.045 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท)

ด้านแหล่งข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค พยายามเพิ่มงบดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corp.) และสร้างหนทางเพื่อการขายหุ้นเพิ่มทุน โดยธนาคาร อาจต้องการให้รัฐบาลสหรัฐอำนวยความสะดวกในการเจรจากับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบางแห่งเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเองท่ามกลางความพยายามที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์ และทั้งหมดอาจเป็นทางเลือกที่ “จ่ายน้อยที่สุด” มากกว่าปล่อยให้บริษัทล้มเหลว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์