กลุ่ม JMART หุ้นร่วงยกแผง เซ่นเอ็มดี SINGER "ลาออก-NPL" พุ่ง

กลุ่ม JMART หุ้นร่วงยกแผง เซ่นเอ็มดี SINGER "ลาออก-NPL" พุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ปิดช่วงเช้าวันนี้ (2 พ.ค.) เวลา 12.30 น. ลดลง 4.55% หรือลดลง 0.90 บาท มาอยู่ที่ 18.90 บาท มูลค่าการซื้อขาย 336.61 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ตเวิร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ลดลง 5.70% หรือลดลง 2.25 บาท มาอยู่ที่ 37.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 335.53 ล้านบาท

ราคาหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ลดลง 5.63% หรือลดลง 0.80 บาท มาอยู่ที่ 13.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 131.86 ล้านบาท
 
ราคาหุ้น บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ลดลง 7.94% หรือลดลง 0.20 บาท มาอยู่ที่ 2.32 บาท มูลค่าการซื้อขาย 33.64 ล้านบาท

หลังจากล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการของ SINGER เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 มีมติรับทราบการลาออกของ นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ จากการเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา ตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือลาออกที่ได้ยื่นต่อบริษัท 

นอกจากนี้ ยังมีมติอนุมัติให้แต่งตั้ง นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการ และกรรมการการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของบริษัท แทนกรรมการที่ลาออก (นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2566 เป็นต้นไป

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มอง SINGER เป็น "ลบ" มากขึ้น หลังจากที่ NPL เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส ที่แล้ว และการที่ นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แสดงว่าปัญหา NPL อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ 

ทั้งนี้ มองว่า นายกิตติพงศ์ ถือเป็นผู้บริหารสำคัญที่นำพา SINGER พลิกฟื้นสถานการณ์จากขาดทุนเป็นการฟื้นตัว สถานการณ์นี้ดูไม่ปกติ เพราะ SINGER กำลังเผชิญกับปัญหา NPL ก้อนใหญ่จากธุรกิจสินเชื่อลิสซิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดำเนินการจากบริษัทลูก คือ SGC ดังนั้น การลาออกของผู้บริหารคนสำคัญจึงเป็นสัญญาณลบต่อแนวโน้มผลประกอบการในระยะสั้น และทำให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

โดยแนวโน้มการเติบโตน่าเป็นห่วง SINGER ถูกวางกลยุทธ์ให้เป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับ J-Mobile ซึ่งยอดขายในปี 2565 ของ SINGER เกือบ 1,000 ล้านบาท (หรือประมาณ 36% ของยอดขายรวม) เป็นการขายสินค้า IT ที่มากจาก J-Mobile นอกจากนี้ JMART (ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SINGER) ก็พยายามจะผลักดันให้ SINGER เป็นกลไกหลักสำหรับธุรกิจการปล่อยขยายสินเชื่อผู้บริโภคบนฐานลูกค้าของ BRR

ทั้งนี้ การเปลี่ยนตัวผู้บริหารรอบล่าสุดนี้อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าธุรกิจในอนาคตของ SINGER จะเน้นไปหาสินค้า IT จาก J-Mobile ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สินค้าจะกระจุกตัว และความเสี่ยงด้านการตั้งสำรอง เพราะการปล่อยกู้เพื่อซื้อสินค้า IT มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูง

การแก้ NPL ทำให้เกิดความกังวลกับค่าใช้จ่ายสำรองฯ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ NPL ที่แท้จริงของ SINGER พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในไตรมาส 4/2565 โดย NPL ratio อยู่ที่ประมาณ 11-12% (หากนับรวม NPA ที่บันทึกเป็นสินค้าคงคลังด้วย) เนื่องจากยังมีการจัดชั้นลูกค้าที่อ่อนไหวบางรายเป็นสินเชื่อที่ปกติ (performing loan) อยู่ในไตรมาส 4/2565 แต่คิดว่าลูกค้าเหล่านี้อาจจะกลายมาเป็น NPL ในไตรมาส 1/2566 และกระทบค่าใช้จ่ายสำรองฯ และค่าใช่จ่ายการด้อยค่าของสินทรัพย์ก้อนใหญ่ 

ดังนั้น จึงปรับลดประมาณการกำไรปี 2566-2567 ลง 53% และ 28% ตามลำดับ สะท้อนถึง 1. ค่าใช้จ่ายสำรองฯ (credit cost) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 6% และ 4% ในปี 2566-2567 จากเดิมที่ 3% และ 2.5% ตามลำดับ 2.การปรับลดอัตราการเติบโตของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น -20%/+10% (จากเดิมที่ -5%, +10%) 3.การปรับลดอัตราการเติบโตขอสินเชื่อเป็น -6%, +5% (จากเดิมที่ -5%, +10%)

ทั้งนี้ เนื่องจากมี NPL เกิดใหม่จำนวนมาก และมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร จึงคิดว่า SINGER น่าจะต้องใช้เวลาสักระยะในการล้างงบดุล และฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต ใช้ P/E ที่ 15 เท่า อิงประมาณการกำไรเฉลี่ย 2 ปี ทำให้ได้ราคาเป้าหมายที่ 11.60 บาท (ลดลงจาก 24 บาท) ดังนั้น จึงปรับลดคำแนะนำจาก "ถือ" เป็น "ขาย"

บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมอง Slighly negative ต่อการปรับโครงสร้างครั้งนี้ โดยนายกิตติพงศ์ ถือเป็นบุคลากรสำคัญของบริษัท ตลอดช่วงรับตำแหน่ง MD ตั้งแต่ปี 2560 สามารถผลักดันผลประกอบการจากขาดทุนปี 2560 กลับมามีกำไร 935 ล้านบาท ในปี 2565 ขณะที่ นายนราธิป ที่มารับตำแหน่งแทน เดิม เป็นผู้บริหารอยู่ใน Jaymert Mobile แนะนำติดการการปรับโครงสร้างและนโยบายต่อไป

ด้าน Outlook มองบริษัทยังอยู่ในช่วงจัดการการแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ (NPL) ทำให้การเติบโตของสินเชื่ออาจยังไม่เด่น โดยบริษัทมองยังต้องใช้เวลาจัดการราว 2 ไตรมาส ถึงไตรมาส 2/2566 และจะกลับมาเน้นด้านสินเชื่อตามปกติได้ในไตรมาส 3/2566 ในระยะสั้น เบื้องต้นคาดกำไรไตรมาส 1/2566 ยังลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และไตรมาสก่อน ซึ่งโดยรวมมองประมาณการยังมี Downside อยู่ 

สำหรับ คำแนะนำ แม้ราคาหุ้นปรับลงมามาก แต่ยังแนะนำ หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน จากปัญหาด้าน NPL ที่คาดยังต้องใช้เวลาจัดการ และประมาณการอาจยังมี Downside โดยหุ้นในกลุ่มฯ ที่น่าสนใจกว่า คือ JMT (ราคาเป้าหมาย 56 บาท) จากการซื้อหนี้ที่เริ่มมีโมเมนตัมบวก และแผน Spin off JAM เลื่อนออกไป ช่วยลดความกังวลด้าน Earnings dilution