จีน-สหรัฐ-เกาหลีใต้: สัมพันธ์ ‘สามเส้า’ กลางสมรภูมิ 'เซมิคอนดักเตอร์'
จีนจ่อดึงเกาหลีใต้เข้าร่วม “สงครามเซมิคอนดักเตอร์” กับสหรัฐ หวังสร้างความร้าวฉานระหว่าง สหรัฐ-เกาหลีใต้ ด้านแหล่งข่าววงใน เผย รัฐบาลเกาหลีใต้ พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งครั้งนี้โดยห้ามไม่ให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรับส่วนแบ่งจากช่องว่างของบริษัทไมครอน
Key Points
- จีนแบนบริษัทไมครอน เทคโนโลยีของสหรัฐ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
- จีนหวังใช้บริษัทในเกาหลีใต้มาอุดช่องโหว่ รับส่วนแบ่งการตลาดที่หายไปเพื่อสร้างความขัดแย้งให้ เกาหลีใต้-สหรัฐ
- สหรัฐเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงลำดับต้นของเกาหลีใต้
- จีนเป็นคู่ค้าสำคัญกับเกาหลีใต้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
แหล่งข่าววงในของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ซึ่งทราบข้อมูลภายในเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลเกาหลีใต้ต่อการที่รัฐบาลจีนสั่งห้ามนำเข้า-ส่งออก (แบน) สินค้าจากบริษัทของสหรัฐ กล่าววันนี้ (29 พ.ค.) ว่า
ทางการเกาหลีใต้พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปรับผลประโยชน์จากการที่จีนแบน บริษัท ไมครอน เทคโนโลยี (Micron Technology) ผู้ผลิต เซมิคอนดักเตอร์ จากสหรัฐ เนื่องจากทางการมองว่าท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลกลางปักกิ่งต้องการสร้าง “ความร้าวฉาน” ระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวคนดังกล่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะไม่สนับสนุนให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตชิปหน่วยความจำ เข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของจีน หลังจากรัฐบาลกลางปักกิ่งแบนบริษัทไมครอน เทคโนโลยีช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติ
โดยจีนเป็นตลาดรับซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) และเอสเค ไฮนิกซ์ (SK Hynix) รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของบางบริษัทจากเกาหลีใต้ด้วย
* DRAM ย่อมาจาก Dynamic Random Access Memory ซึ่งเป็นหน่วยความจำสำรองของคอมพิวเตอร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“เกาหลีใต้พยายามระมัดระวังในการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์การแบนบริษัทไมครอน เนื่องจากเห็นว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรระยะยาวที่สําคัญสําหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และไม่ต้องการทําลายความสัมพันธ์ดังกล่าว”
ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า การตัดสินใจแบนบริษัทไมครอนคล้ายเป็นการดึงเกาหลีใต้เข้ามาอยู่ใน “สมการความขัดแย้ง” ในด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติครั้งนี้ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ว่า สหรัฐเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงลำดับต้นของเกาหลีใต้ ขณะที่จีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของโซลเช่นเดียวกัน
มาตรการควบคุมการส่งออก
ช่วงที่ผ่านมา จากการที่รัฐบาลกลางปักกิ่งพยายามเข้ามาแข่งขันในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้วอชิงตันร่วมกับพันธมิตรในญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์กําหนดชุดมาตรการการควบคุมการส่งออก “อุปกรณ์การผลิตชิป” และ “องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี” ให้กับจีน
อย่างไรก็ดี ทรอย สแตนกาโร (Troy Stangarone) ผู้อํานวยการอาวุโสของสถาบันเศรษฐกิจเกาหลี กล่าวว่า หากบรรดาบริษัทในเกาหลีใต้ไม่เข้าไปรับส่วนแบ่งทางการตลาดเพื่ออุดช่องโหว่แทนบริษัทไมครอน รัฐบาลกลางปักกิ่งอาจออกมาตรการ “ลงโทษ” บรรดาบริษัทเหล่านั้นเหมือนการตัดสินใจของรัฐบาลกลางของกรุงโซลเมื่อไม่นานมานี้ในการปรับใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ หรือ “Thaad”
ด้านสำนักข่าวเดอะไฟแนนเชียลไทมส์ (The Financial Times) รายงานเมื่อช่วงต้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเกาหลีใต้อาจอนุมัติให้บรรดาบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศเข้าไปรับส่วนแบ่งทางการตลาดในจีน แทนบริษัทไมครอนของสหรัฐ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาปฏิเสธว่ายังไม่ได้ประกาศจุดยืนอย่างเป็นทางการใดๆ
โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานเพิ่มเติมว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจีนจะขยายการปราบปรามผู้ผลิตชิปของสหรัฐ หรือสหรัฐจะตอบสนองต่อคําตัดสินของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับบริษัทไมครอนอย่างไร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งสองฝ่ายพยายามลดความตึงเครียดผ่านการฟื้นฟูการเจรจาทางการทูตระดับสูง รวมถึงการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ระดับสูงในกรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ด้วย
จากข้อมูลพบว่า ไมครอนมีรายได้ประมาณ 11% จาก บริษัทที่มีสํานักงานใหญ่ในจีน และบริษัทออกประมาณการยอดขายรวมไปยังประเทศจีน ว่าอยู่ที่ประมาณ 25% ของรายได้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคำนวณมาจากทั้งยอดขายทางตรง และทางอ้อมผ่านผู้จัดจําหน่าย
ทั้งนี้ ในการบรรยายสรุปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงอยู่ในกระบวนการพูดคุยกับพันธมิตรเกี่ยวกับการกระทําของจีนต่อบริษัทไมครอน
"เรามองการกระทำของจีนครั้งนี้ว่าเป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจที่ธรรมดา และเรียบง่าย และเราจะไม่ยอมทน รวมทั้งยืนยันว่าการแบนของจีนครั้งนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จในการกีดกันการค้าของสหรัฐในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้แน่นอน”
ส่วนกระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์หลังการเจรจากับผู้นำระดับสูงของเกาหลีใต้ ท่ามกลางการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (The Asia-Pacific Economic Cooperation Forum) ที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกนของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์แยกของกระทรวงการค้า (The Trade Ministry) ของเกาหลีใต้ ไม่มีส่วนใดระบุถึงประเด็นเรื่องการผลิตชิป แต่กล่าวในทำนองว่า ผู้นำระดับสูงได้หารือในประเด็นเรื่อง “การรักษาเสถียรภาพของสินค้าโภคภัณฑ์” และ “บรรดาสินค้าที่สำคัญ” แทน
อ้างอิง
1. Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์