เจาะงบ หุ้นSTARK พบพิรุธเพียบ อึ้งปั้นรายได้เทียมหลายพันล้าน ผ่าน 3 บริษัทย่อย

เจาะงบ หุ้นSTARK พบพิรุธเพียบ อึ้งปั้นรายได้เทียมหลายพันล้าน ผ่าน 3 บริษัทย่อย

เปิดไส้ในงบการเงิน หุ้นSTARK หลังล่าสุดพลิกผลขาดทุนกว่า 6.6 พันล้าน สวนทางงบ 9 เดือนปี 2565 ที่โชว์กำไร 2.2 พันล้าน พบงบการเงินผิดปกติอื้อ ส่อเค้าปั้นรายได้เทียมผ่าน 3 บริษัทย่อย ด้านผู้สอบบัญชีเร่งทำ Special audit

KEY POINTS :

  • หุ้นSTARK แจ้งงบการเงินปี 2565 ของกลุ่มบริษัท พลิกขาดทุนกว่า 6.6 พันล้านบาท แม้งวด 9 เดือนแรกปี 2565 โชว์กำไรถึง 2.2 พันล้านบาท เนื่องจากงบการเงินไม่ถูกต้อง
  • สภาพคล่องธุรกิจมีปัญหาหนัก หลังหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 6.6 พันล้าน ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 4.4 พันล้าน สะท้อนธุรกิจไปต่อยาก
  • ผู้สอบบัญชีพบปั้นรายได้เทียมผ่าน 3 บริษัทย่อย  เฟ้ลปส์ ดอด์จ , ไทยเคเบิ้ล และ อดิสรสงขลา
  • ตรวจพบออกเอกสารขาย แต่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า ทั้งยังพบธุรกรรมโอนเงินผิดปกติ โดยจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เงินถูกโอนไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่

หลังจาก บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งงบการเงินงวดปี 2565 ไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปรากฎว่าพลิก “ขาดทุน” แบบมโหราฬกว่า 15,134 ล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ STARK จะเคยแจ้งงบการเงินงวด 9 เดือนแรกปี 2565 ไว้ว่ามีกำไรสุทธิรวมถึง 2,216 ล้านบาทก็ตาม …สาเหตุเป็นเพราะอะไร “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปหาคำตอบ!

เมื่อคืนที่ผ่านมา STARK รายงานงบการเงินปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 15,134 ล้านบาท และขาดทุนสะสมรวม 14,999 ล้านบาท โดยกลุ่มกิจการมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 6,651 ล้านบาท และขาดทุนสะสมรวม 10,379 ล้านบาท

 

เจาะงบ หุ้นSTARK พบพิรุธเพียบ อึ้งปั้นรายได้เทียมหลายพันล้าน ผ่าน 3 บริษัทย่อย

 

ส่วนหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมกว่า 6,628 ล้านบาท สะท้อนถึงสภาพคล่องของตัวบริษัทที่มีปัญหาอย่างหนัก ในขณะที่ส่วน ผู้ถือหุ้นSTARK ติดลบกว่า 4,404 ล้านบาท  …ภาพเหล่านี้สะท้อนชัดว่า STARK อาจไม่สามารถดำเนินงานธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

ปั้นรายได้เทียมผ่าน 3 บริษัทย่อย

เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้น STARK ยังเชื่อกันว่า STARK มีผลดำเนินงานที่โดดเด่น เพราะงบการเงินงวด 9 เดือนแรกปี 2565 โชว์กำไรสุทธิถึง 2,216 ล้านบาท แต่ความทั้งหมดมาแตกเอาเมื่อผู้สอบบัญชีเริ่มพบความผิดปกติในงบการเงินหลายรายการ

โดยผู้สอบบัญชีรายงานว่า พบความผิดปกติจำนวนมากหลายรายการที่แสดงข้อมูลขัดต่อข้อเท็จริง ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่มีผลต่องบการเงินของกลุ่มกิจการ โดยความผิดปกติที่ว่านี้มาจาก 3 บริษัท

1.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด

- เฟ้ลปส์ ดอด์จ เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ STARK ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจพบว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ มียอดลูกหนี้การค้าคงค้างจำนวนมาก ทว่ายอดดังกล่าว เป็นการออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ทำให้ เฟ้ลปส์ ดอด์จ  รับรู้รายได้จากการขายของลูกหนี้การค้าสูงเกินความเป็นจริงถึง 5,005 ล้านบาท ในปี 2565

- รายการขายจำนวนมากที่ให้แก่ลูกหนี้การค้าหลายราย รวมเป็นเงิน 1,890 ล้านบาท ซึ่งปกติแล้ว เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะให้เครดิตเทอม 60-90 วัน แต่รายการดังกล่าวไม่เป็นไปตามการดำเนินงานปกติ ซึ่ง เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้ออกเอกสารขายโดยไม่มีการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าจริง ทำให้รับรู้รายได้และลูกหนี้การค้าสูงเกินจริงราว 1,890 ล้านบาท

นอกจากนี้เงินที่ได้รับจากลูกหนี้การค้าของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ไม่ได้มาจากลูกหนี้การค้าจริง แต่มาจาก บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง และ บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการ

- เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้จ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้าให้แก่คู่ค้า 3 ราย รวม 10,451 ล้านบาท รายการเหล่านี้เกิดขึ้นในเดือนพ.ย.ถึงธ.ค.2565 ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจพบว่า รายการเหล่านี้แท้จริงแล้วไม่ได้จ่ายไปยัง 3 บริษัทตามที่อ้าง แต่ เป็นการโอนเงินออกไปให้ เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง

- เฟ้ลปส์ ดอด์จ อ้างว่าได้รับเงินจากลูกหนี้การค้าต่างประเทศหลายรายในช่วงเดือนธ.ค.2565 จำนวน 2,034 ล้านบาท และ 4,052 ล้านบาท โดยระบุว่า เป็นการรับเงินจากการขายสินค้าในปี 2564 ของบริษัท Thinh Phat Cables Joint Stock Company (TPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่จดทะเบียนในเวียดนาม แต่ผู้สอบบัญชีไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีการขายเกิดขึ้นจริง และเส้นทางการชำระเงิน บ่งชี้ว่าเป็นการโอนเงินจาก เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง

2.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 

- อดิสรสงขลา เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ STARK ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล  ซึ่ง อดิสรสงขลา ได้บันทึกรายได้การให้บริการโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ มีผลให้รับรู้รายได้สูงเกินจริงราว 394 ล้านบาทในปี 2565 และ 240 ล้านบาท ในปี 2564 และ 411 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 2564

- ผู้สอบบัญชียังพบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าแรงของพนักงานในปี 2565 เพิ่มขึ้นแบบไม่สอดคล้องกัน โดยปี 2565 พบว่า มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้สูงถึง 136 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ที่มีเพียง 18 ล้านบาท ทั้งที่ในปี 2565 จำนวนพนักงานของ อดิสรสงขลา ลดลง ขณะเดียวกันยังตรวจพบว่า อดิสรสงขลา บันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงพนักงานในปี 2565 สูงเกินจริงราว 99 ล้านบาท

3.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

- ไทยเคเบิ้ล เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ STARK โดย ไทยเคเบิ้ล ได้ออกเอกสารขายแต่ไม่มีการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าจริง ส่งผลให้รับรู้รายได้สูงเกินจริงถึง 600 ล้านบาท ในปี 2564 และ 89 ล้านบาท ในช่วงก่อนปี 2564

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามของเขตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extendedscope special audit) ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกพอสมควร STARK จึงขอขยายเวลาออกไปอีก 30 วัน ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบมีดังนี้

- ผู้สอบบัญชีอยุ่ระหว่าง การขยายผลเพิ่มเติมใน STARK และ บริษัทย่อยอีก 3 แห่ง ได้แก่ เฟ้ลปส์ ดอด์จ , ไทยเคเบิ้ล และ อดิสรสงขลา

- อยู่ระหว่างสอบทานความถูกต้องและการมีตัวตนของรายการขายและลูกหนี้ที่มีสาระสำคัญในช่วงระหว่างปี 2564 และ 2565 ของทั้ง 3 บริษัทย่อยดังกล่าว รวมทั้งสอบทานรายการเคลื่อนไหวของเงินฝากธนาคารที่เป็นบัญชีหลักที่ใช้ในการทำธุรกรรมของทั้ง 3 บริษัทย่อย

 

สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษในส่วนของ STARK อยู่ระหว่างสอบรายการเคลื่อนไหวบัญชีธนาคารจำนวน 5 บัญชีจากทั้งหมด 7 บัญชี ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 60% อย่างไรก็ตามบริษัทเจอปัญหาในการขอรายการเดินบัญชีจากบางธนาคาร เนื่องจากเอกสารที่ได้รับไม่มีรายละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับกับผู้จ่ายเงิน

ในฝั่งของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ ยังไม่สามารถสรุปธุรกรรมทางการเงินได้ โดยกำลังตรวจสอบข้อมูลความเชื่อมโยงรายการระหว่างผู้รับเงินและผู้จ่ายเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้อง 7 แห่ง จาก 9 แห่ง ส่วนการตรวจสอบธุรกรรมซื้อขาย มีรายการทางการค้าจำนวนมากต้องทำการตรวจสอบ เช่น มีเอกสารที่เกี่ยวข้องการขายถึง 4,500 ชุด อย่างไรก็ตามมีความคืบหน้า 60% แล้ว

สำหรับทาง ไทยเคเบิ้ล ยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ เพราะประสบปัญหาเรื่องการขอรายการเดินบัญชีจากทาง ไทยเคเบิ้ล จากบางธนาคาร อย่างไรก็ตามผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบธุรกรรมที่อาจผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการขาย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบแล้ว 20%

ส่วน อดิสรสงขลา ยังไม่สามารถสรุปผลตรวจสอบทางการเงินได้ เนื่องจากการขอรายการเดินบัญชีจากบางธนาคาร  นอกจากนี้ผู้สอบบัญชียังตรวจพบความแตกต่างระหว่างรายได้ค้างรับตามงบทดลองของบริษัทและรายได้ค้างรับที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตามผู้สอบบัญชีอยู่ระหว่างตรวจสอบเพิ่มเติมซึ่งดำเนินการไปแล้ว 30%