DSI พบหลักฐาน ‘ชนินทร์-ศรัทธา’ ร่วมทุจริต STARK เรียกรับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้

DSI พบหลักฐาน  ‘ชนินทร์-ศรัทธา’ ร่วมทุจริต STARK เรียกรับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้

DSI เผยตรวจพบผู้ทุจริตกรณี “สตาร์ค” เบื้องต้น 3 ราย ออกหมายเรียก "ศรัทธา -ชนินทร์" รับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้ คาดสัปดาห์หน้าออกหมายเรียกเพิ่มอีกหนึ่งราย ด้าน “พ.ต.ต. ยุทธนา" แจงยังไม่ได้รับหนังสือสารภาพจาก“ศรัทธา” "ไทยบีเอ็มเอ ”ทบทวนปรับปรุง-เพิ่มเครื่องหมายแจ้งเตือนผู้ถือหุ้นกู้ บลจ.บัวหลวง ชงทำสเปเชียลออดิตทุกไตรมาส -จ้างสายลับ แกะรอยผู้บริหารส่อทุจริต

การตรวจสอบคดีทุจริตของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือSTARK มีความคืบหน้ามากขึ้น ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  วานนี้ (3 ก.ค.)ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้ว 2 ราย เพื่อมารับทราบข้อกล่าว และเตรียมที่จะออกหมายเพิ่มอีก 1 ราย ขณะที่หน่วยงานตลาดทุนได้มีการหารือหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบSTARK เกิดขึ้นซ้ำ

 เบื้องต้นพบผู้ต้องหาทุจริต3 คน 

พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณี STARK ว่า วานนี้(3 ก.ค.) DSI ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาร่วมกันทุจริตกรณี STARK แล้ว2 คน คือ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ STARK ให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้หากไม่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่กำหนดทาง DSI จะพิจารณาว่าจะออกหมายเรียกซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่ หรือหากมีการตรวจสอบแล้วผู้ต้องหามีการเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ หรือมีเจตนาไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ก็จะดำเนินการออกหมายจับต่อไป

โดยตอนนี้ทางDSI ได้มีการตรวจสอบว่า 2 คนที่DSI ได้ออกหมายเรียกนั้นได้หลบหนีไปต่างประเทศหรือไม่  ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างรอข้อมูลอย่างเป็นทางการ

จ่อออกหมายเรียกเพิ่มอีก1คน

นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพิ่มได้อีก 1 ราย ซึ่งขณะนี้ทาง DSI อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน ซึ่งหากได้หลักฐานที่เพียงพอในการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อไร ก็จะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาทันที

“ตอนนี้เราได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้ว 2 คน เพราะ เรามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อหาเขาได้ แต่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกว่าที่กระบวนการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ตอนนี้เราไม่อยากพูดอะไรมากเพราะกลัวจะเสียรูปคดี ”

ส่วนกรณีที่มีข้อมูลในสื่อออนไลน์ระบุว่า นายศรัทธาได้มีการส่งหนังสือสารภาพยอมรับว่าได้มีการตกแต่งบัญชีของSTARK นั้้น ขณะนี้ตนเองยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าวจากนายศรัทธา

ส่วนเรื่องของการอายัดทรัพย์สินของ STARK นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์  ซึ่งยังไม่ได้มีการอายัดทรัพย์เพิ่มเติมจากครั้งที่แล้วที่อายัดทรัพย์ไป100 กว่าล้านบาท  

หาแนวทางป้องกัน-แจ้งเตือน

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA กล่าวว่า สมาคมฯ ได้มีการประสานงาน และหารือร่วมกับก.ล.ต. และตลท. บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ

ทั้งนี้ก็เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับกรณี STARK เช่น การเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ให้กับนักลงทุน นอกจากข้อมูล Fact sheet ซึ่งเป็นข้อมูลสรุปที่ทางตลท.ทำไว้ให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์หุ้นหรือการลงทุนในเบื้องต้นได้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดและต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นกันต่อไป

ขณะที่สมาคมฯในฐานะศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหรือเพิ่มเติม เครื่องหมายแจ้งเตือน (Event Sing Bond)ให้สามารถส่งสัญญาณเตือนหรือสื่อสารกับนักลงทุนได้ชัดเจนมากขึ้น  และประสานขอข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของสมาคมฯเพื่อแจ้งให้นักลงทุนรับทราบได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความระมัดระวังให้นักลงทุน มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

เดินหน้าฟ้องกลุ่ม

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง ในฐานะ บลจ. ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้น STARK  กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาของ STARK นั้นยังต้องรอในรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะหากพิจารณาการขายทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่ ซึ่งบริษัทใช้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ สินทรัพย์เหล่านั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้สถาบันการเงินแล้ว อยู่ที่ว่าาทางสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะพิจารณาดำเนินการอย่างไร หรือบริษัทจะสามารถฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่หลายๆ เรื่องยังต้องรอความชัดเจนของบริษัทมาชี้แจง

ทั้งนี้บลจ.บัวหลวง จะร่วมกับบลจ.ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนในSTARKดำเนินตามแนวทางของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ที่จะดำเนินการฟ้องร้องแบบกลุ่มต่อไป

นอกจากนี้ในฐานะนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นในนามผู้ถือหุ้นรายย่อย เพราะการเป็นนักลงทุนสถาบันก็ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบภายในบริษัทได้อยู่แล้ว ดังนั้น มองว่า ควรจะเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนในบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการตรวจสอบการมีธรรมาภิบาลของเพิ่มเติม

เสนอบจ.ทำสเปเชียลออดิตทุกไตรมาส

ทั้งนี้อยู่ระหว่างการหารือและนำเสนอร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ใช้การตรวจสอบพิเศษ (Special Audit)สำหรับงบการเงินรายไตรมาส (ทุก3 เดือน) ,การว่าจ้างสายลับในการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้บริหารบริษัท อย่างในเวียดนามเริ่มมีการใช้วิธีการนี้ตรวจสอบผู้บริหารที่อาจมีความประพฤติมิชอบในบริษัทแล้ว เป็นต้น