KCG เคาะราคา IPO 8.50 บาท เปิดจอง 20 – 24 ก.ค. นี้ คาดนำหุ้นเข้าเทรด SET ส.ค.นี้

KCG เคาะราคา IPO 8.50 บาท เปิดจอง 20 – 24 ก.ค. นี้ คาดนำหุ้นเข้าเทรด SET ส.ค.นี้

KCG เคาะราคา IPO 8.50 บาท เปิดจอง 20 – 21 และ 24 ก.ค. นี้ คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกใน SET ช่วงต้นเดือน ส.ค. นี้ เดินหน้าขยายกำลังการผลิต วางเป้าหมายธุรกิจเติบโตยั่งยืน พร้อมเผยไตรมาส1/66เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีรายได้รวมโต 30.6% และกำไรโต 81.4%

บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG  ได้แต่งตั้งบล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 3 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ KCG ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

KCG เคาะราคา IPO 8.50 บาท เปิดจอง 20 – 24 ก.ค. นี้ คาดนำหุ้นเข้าเทรด SET ส.ค.นี้

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า KCG ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น โดยเตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่  20 – 21 และ 24 ก.ค. นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “KCG” 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน KCG มีทุนชำระแล้ว 390 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 390 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.0 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 155 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับ 545 ล้านหุ้น

สำหรับเงินที่ได้จากการระดุมครั้งนี้ KCG จะนำไปใช้สร้างศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า ขยายกำลังการผลิต ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน   

“การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ KCG ที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น พิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แผนการลงทุนและศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่ง KCG นับว่าเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานมั่นคง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดรับกับการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและร้านอาหารและเบเกอรี่ต่างๆ ความนิยมในการบริโภคอาหารตะวันตกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากชีสและเนยมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การบริโภคอาหารตะวันตกขยายตัวอย่างเนื่อง” 

นายวาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KGC  กล่าวว่า  บริษัทฯ เป็นผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเนย ชีส บิสกิต และส่วนประกอบอาหารและเบเกอรี่ที่หลากหลาย อีกทั้ง บริษัทฯ ยังเป็นผู้นำเข้าเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตกจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก โดยบริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ในการเป็น “บริษัทชั้นนำในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารรสเลิศ รวมทั้งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มุ่งมั่น เพื่อการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย” มอบผลิตภัณฑ์ที่สร้างความรื่นรมย์ให้กับรสชาติอาหารที่มีคุณภาพในทุกช่วงมื้ออาหารของผู้บริโภค ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบและคัดสรรแบรนด์ชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

“การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ KCG เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตตลอดจนการก่อสร้าง “KCG Logistics Park” หรือศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแบบแช่แข็ง (Frozen) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) ซึ่งมีความทันสมัยและครบวงจร เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะช่วยผลักดันการขยายธุรกิจของ KCG ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนย ชีส และอาหารสำเร็จรูปชั้นนำจากทั่วโลก ที่มีคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย” 


นายดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG  กล่าวว่า แผนขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ วาง 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1) นำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยลงทุนในเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ (Automation)  เพื่อขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) ผลิตภัณฑ์ชีสภายในปีนี้ จากเดิม 2,106 ตันต่อปี เป็น 4,212 ตันต่อปี และในปี 2567 จะเดินหน้าขยายกำลังการผลิตเนยที่โรงงานเทพารักษ์ให้เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี จากเดิม 18,596 ตันต่อปี ในปี 2564 รวมถึงการลงทุนเครื่องจักรใหม่และปรับพื้นที่สร้างห้องปลอดเชื้อที่โรงงานบางพลี  และยังได้เตรียมปรับพื้นที่ติดตั้งเครื่องจักรระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และบริหารต้นทุนการผลิตให้ลดลงและเพื่อรองรับการเติบโต นอกจากนี้ KCG ยังมีการลงทุนเพื่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park  สำหรับเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ 
  

 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งทีมงานด้านนวัตกรรม (Innovation Management) สำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่โดยเฉพาะ รวมทั้งยังได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นสูง (SKU rationalization) เพื่อบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมุ่งมั่นศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคต  
    

3) สร้างช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค (B2C) บริษัทฯ วางแผนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น Lazada, Line Official, Freshket, Shopee, Pandamart เป็นต้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ บิสกิต เพื่อวางจำหน่ายในร้าน BAO café พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์กลุ่มชีสและเนยวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ Lawson 108 รวมทั้งขยายช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ของพันธมิตรประมาณ 2,500 ตู้ทั่วประเทศไทย 
    

นอกจากนี้ ยังเดินหน้ายกระดับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) เช่น ผู้ให้บริการด้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง (HORECA) เป็นต้น และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ผ่านการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรบนแพลตฟอร์มบริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics) แบบออนไลน์ โดยมีการพัฒนาระบบ Cold Chain Fulfillment ซึ่งเป็นการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท และมุ่งขยายฐานลูกค้าอย่างแข็งแกร่ง 


ขณะที่แผนการขยายตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย บริษัทฯ เตรียมต่อยอดจากการเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย โดยมุ่งขยายธุรกิจในประเทศอินเดีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง จากในปัจจุบันที่ส่งออกไปยัง 15 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ รวมถึงวางแผนขยายพันธมิตรทางธุรกิจกับตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เป็นต้น เพื่อขยายฐานการจัดจำหน่ายสินค้า และเพิ่มความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเป็นร้อยละ 10 ของรายได้จากการขาย ภายในปี 2568


4) ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities) โดยจะมุ่งสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเน้นธุรกิจที่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ที่เสริมศักยภาพการเติบโตให้แก่ KCG อาทิ ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบไขมันนม ชีส น้ำมันปาล์ม เป็นต้น 


นายนายธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างความรื่นรมย์ในรสชาติและความสะดวกสบายในทุกมื้ออาหารของผู้บริโภค พร้อมทั้งจัดหาวัตถุดิบและคัดสรรแบรนด์ชั้นนำจากทุกมุมโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  KCG จึงครองความเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนยและชีสในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์เนยร้อยละ 55.0 และชีสร้อยละ 31.6 และยังมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรก สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิต (ข้อมูลจาก Euromonitor ปี 2564) 


นางกนกวรรณรัตน์ ศรีมณีศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน KCG กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปี 2563 - 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 4,950.0 ล้านบาท 5,265.0 ล้านบาท และ 6,232.7 ล้านบาท  ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 244.2 ล้านบาท 303.4 ล้านบาท และ 241.1 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกประเภทให้กับกลุ่มผู้บริโภค (B2C) กลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) และการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลดำเนินงาน 3 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,723.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ  58.4 ล้านบาท โดยรายได้รวมและกำไรสุทธิเติบโตจากงวด 3 เดือนแรกของปี 2565  คิดเป็นอัตราร้อยละ 30.6 และร้อยละ 81.4  ตามลำดับ โดยหลักมาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 


ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในปี 2563 - 2565  และ 3 เดือนแรกของปี 2565 และ 2566 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คิดเป็นร้อยละ 58.4 – 60.6  ผลิตภัณฑ์สำหรับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 26.5 – 30.5 และผลิตภัณฑ์บิสกิต คิดเป็นร้อยละ 10.4 - 13.4 ของรายได้จากการขาย และหากพิจารณารายได้จากการขายแบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทฯ มีรายได้จากการขายให้แก่กลุ่มผู้บริโภค (B2C) กลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) และการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.9 – 59.4 ร้อยละ 36.7 – 41.5 และร้อยละ 3.6 – 5.2 ของรายได้จากการขาย ตามลำดับ