ผู้เสียหายกองทุนLTF RMF ที่ลงทุนSTARK ร้องก.ล.ตฟันบลจ.เหตุบริหารขาดทุนอ่วม 3.5 พันล.
ผู้เสียหายจากลงทุนกองทุนLTF RMF ร้องก.ล.ต.ให้ดำเนินคดีกับผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทจัดการกองทุน(บลจ.)แห่งหนึ่ง ที่ลงทุนหุ้นSTARK จำนวนมาก ทำให้ขาดทุนอ่วม 3.5 พันล้าน
วันนี้(24ก.ค.2566) เวลา11.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสิทธา สุวิรัชวิทยกิจ และกลุ่มผู้เสียหายหน่วยลงทุน ได้เป็นตัวแทนเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานก.ล.ต. ขอให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหายที่ลงทุนกองทุนเพื่อประหยัดภาษีLTF RMF และกองทุนอื่นๆ สืบสวนสอบสวนและแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบริษัทจัดการกองทุน(บลจ.)แห่งหนึ่ง ที่ลงทุนหุ้นบมจ.STARK ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 โดยมีดร.อุรสา บรรณกิจโศภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียน
โดยหนังสือร้องเรียนได้กล่าวหาว่า กองทุนผู้กระทำความผิด ไม่ได้จัดการกองทุนด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต มีลักษณะไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับขอให้ ก.ล.ต. เป็นตัวแทนของผู้เสียหายดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งอีกด้วย
เนื้อหาในหนังสือร้องเรียนแจ้งว่า นักลงทุนที่ได้ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ ตระหนักและเข้าใจข้อจำกัดในการลงทุนดีว่าย่อมมีทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยง แต่กรณีที่ต้องมาร้องเรียนเนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามสภาพการลงทุนตามปกติวิสัย แต่มาจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ผู้ลงทุนได้ตัดสินใจลงทุนกองทุนLTF RMF ผ่านกองทุนดังกล่าว เพื่อวัตถุประสงค์ในการประหยัดภาษี และเก็บออมสำหรับวัยเกษียณอายุ แต่ผลงานการลงทุนของกองทุนดังกล่าวนี้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันอย่างชัดเจน
กองทุนนี้มีผลดำเนินงานงวด6เดือนติดลบ12.33%(เปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันโดยเฉลี่ย-7.24%) ผลดำเนินงานรอบ1ปีลบ7.10%(ค่าเฉลี่ยของกลุ่มลบเพียง0.49%) รอบ5ปีลบ3%(ค่าเฉลี่ยในกลุ่ม-0.16%) เป็นต้น เนื่องจากกองทุนนี้ไปลงทุนในหุ้นของSTARKไว้มากกว่ากองทุนอื่นๆ และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีการกระทำผิดในด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
2.กองทุนผู้กระทำความผิดกฏหมายได้มีพฤติการณ์ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเห็นได้จากกองทุนนี้ได้เข้าไปลงทุนหุ้นSTARKเอาไว้มากถึง 916 ล้านหุ้น ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2565 โดยมีราคาต้นทุนตั้งแต่3.72บาท ไปถึง5 บาท ต่อมาเมื่อเกิดปัญหาSTARKยกเลิกดีลการซื้อกิจการบริษัทLEONIประเทศเยอรมันในเดือนธันวาคม 2565 แล้ว กองทุนอื่นๆพากันปรับพอร์ตขายหุ้นSTARKออกไป เพราะเห็นว่าไม่เป็นไปตามแผนงาน และอาจกระทบต่อผลดำเนินงานทางลบได้ แต่กองทุนนี้กลับถือครองหุ้นเอาไว้จำนวนมาก
กระทั่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้พักการซื้อขาย 4 เดือน มาเปิดให้ซื้อขาย 1 เดือนสุดท้าย ระหว่างวันที่ 1ถึง 30 มิ.ย. 2566 ทางผู้กระทำผิดก็ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้ถือหน่วยลงทุนว่าเหลือหุ้นในมือเพียงเล็กน้อย แต่ต่อมาผู้กระทำผิดได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในวันที่ 23 และ 27 มิ.ย. 2566 ว่ายังคงถือครองหุ้นไว้มากถึง 670 ล้านหุ้น และต่อมาได้ขายออกไปหมด ก่อนจะถึงวันสุดท้ายที่ตลาดฯให้ซื้อขายได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2566 ซึ่งช่วงดังกล่าวราคาหุ้นเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับราคา 1 ถึง 4 สตางค์ ก็จึงน่าจะเหลือมูลค่าที่ขายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากต้นทุนที่มีอยู่ราว 3,850 ล้านบาท ประมาณการณ์ว่าคงจะขาดทุนสุทธิมากกว่า3,500ล้านบาท หรืออย่างต่ำก็ไม่น่าจะน้อยกว่า2,600ล้านบาท
3.กองทุนผู้กระทำผิด ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เห็นได้จากกองทุนผู้กระทำผิดมีแถลงการณ์ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ว่า ” บริษัทได้ส่งทีมนักวิเคราะห์เข้าชมโรงงาน Phelps Dodge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เพื่อประเมินความสามารถในการดําเนินกิจการ โดยประเมินเบื้องต้นว่าบริษัทยังคงสามารถดําเนินกิจการได้ จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด
โดยในความเป็นจริงปรากฏว่าผู้กระทำผิด ขาดความระมัดระวังในการรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะขณะที่บลจ.อื่นๆแจ้งว่าได้ขายหุ้นSTARKออกไปหมดแล้ว แต่กองทุนผู้กระทำผิดยังคงถือครองหุ้นไว้จำนวนมากถึง 670 ล้านหุ้น และได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จตามข้อ2 และยังขาดความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะยังเห็นว่ากิจการSTARKยังจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ทั้งนี้จึงไม่ได้ขายหุ้นออกไปทั้งหมด และยังถือครองหุ้นไว้จำนวนมาก จนท้ายที่สุดต้องขายออกไปในราคาที่แทบจะสิ้นมูลค่าแล้ว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ มีผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนLTF RMFต้องขาดทุนอย่างย่อยยับจากการกระทำดังกล่าว โดยกองทุนผู้กระทำผิดไม่ได้มีความรับผิดชอบใดๆที่จะชดเชยหรือเยียวยาให้
4.กองทุนผู้กระทำผิดยังมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าอาจจะทำการลงทุนที่ไม่โปร่งใส ผิดจากวิสัยของการบริหารกองทุนโดยทั่วไป โดยทำการ มีความขัดแย้งทางผลประโยนชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหลายกรณี เช่น การเข้าไปลงทุนหุ้นบริษัท SKYแบบซื้อบิ๊กล็อตราคา 30.25บาท ตอนที่มีการไล่ราคาหุ้นขึ้นไปเพียงแค่2เดือน
ทั้งที่ราคาทรงๆตัวอยู่เขต10 บาทนานเป็นปีแต่ไม่ยอมลงทุนซื้อตอนราคาหุ้น หรือซื้อบิ๊กล็อตหุ้นบริษัท ADDตอนมีการไล่ราคาขึ้นไป30บาท แล้วมาตัดขายขาดทุนที่10 หรือพฤติกรรมไล่ราคาซื้อหุ้นSAMART SAMTEL ในราคา30ถึง45บาท เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปทางลบอย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ไม่ปรับพอร์ตใดๆ เพิ่งจะมาขายตัดขาดทุนแถวราคา3ถึง5บาทในต้นปีนี้ ทั้งที่กิจการกำลังฟื้นตัว
อันเป็นพฤติการณ์กระทำผิด กฎหมายพรบ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา124/1ไม่ได้จัดการกองทุนรวมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวังรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน และกระทำการโดยทุจริต ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์อันพึงได้รับ และอาจกระทำผิดต่อมาตราอื่นๆของพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และพรบ.บริษัทมหาชนด้วย
ดังนั้นกลุ่มผู้เสียหายจากการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว จึงขอร้องเรียนให้ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้โปรดอำนวยความยุติธรรมในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองผู้ลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และกอบกู้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมาสู่ผู้ถือกองทุนLTF RMF วงการกองทุน และตลาดทุนโดยไว ด้วยการดำเนินการสืบสวนสอบสวน และเป็นตัวแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ประสบความเสียหายในกรณีทำนองเดียวกัน
โดยขอให้ก.ล.ต.แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อผู้จัดการกองทุน คณะผู้บริหาร และบลจ.ผู้กระทำผิด ในฐานความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มาตรา 124/1 และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทระวางโทษจำคุกไม่เกิน2ปี และโทษปรับไม่เกิน5แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับขอให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดให้เยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในทางแพ่งให้ครบถ้วนอีกด้วย
ทางด้านดร.อุรสา ผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.กล่าวว่า เมื่อสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.ได้รับหนังสือร้องเรียนแล้วก็จะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญทั้งผู้เสียหาย และบลจ.กองทุนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง โดยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และดำเนินตามกฏหมายต่อไป