เช็กหุ้นนอนแบงก์ – ไฟแนนซ์ Q2/66 กอดคอกำไรทรุด - เกณฑ์ใหม่กดดัน

เช็กหุ้นนอนแบงก์ – ไฟแนนซ์  Q2/66   กอดคอกำไรทรุด - เกณฑ์ใหม่กดดัน

หลังจากแบงก์ได้พาเหรดรายงานกำไรไตรมาส 2 ปี 2566 และงวด 6 เดือนแรกปี 2566 ทำให้ภาพความเสี่ยงหนี้เสียกลับมาสร้างความคลุมเครือให้กับธุรกิจธนาคาร - นอนแบงก์ และไฟแนนซ์ อีกครั้งจะรุนแรงมากขึ้นในครึ่งปีหลังหรือไม่

     ตัวเลขการ “เร่งตั้งสำรองฯ “ ของแบงก์ใหญ่ที่มีพอร์ตลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นและมาพร้อมกับ NPL ที่ขยับขึ้น ส่งสัญญาณปัญหาหนี้เสียยังไม่จบ และมีโอกาสปะทุได้อีกท่ามกลางเศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกดดันจากการเมือง

      โดยเป็นที่มา ธปท.เตรียมออกมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ด้วยการแปลงหนี้ก้อนนี้มาเป็น Term Loan มีระยะเวลาภายใน 5 ปี ดอกเบี้ยน้อยกว่า 15% ต่อปี และให้ธนาคารเสนอมาตรการแก่ลูกหนี้เป็นความสมัครใจของลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องถูกบันทึกในเครดิตบูโรด้วย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 เม.ย.2567

ส่วนแนวทางการทำให้บรรดาธนาคาร-นอนแบงก์ และไฟแนนซ์ ผวาคือ ธปท. เตรียมกำหนดปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ซึ่งเรียกได้ว่าผู้ปล่อยสินเชื่อต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่การปล่อยกู้ –บริหารเงินกู้ และจบหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด NPL Cliff (หน้าผา NPL) หรือภาวะหนี้เสียที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว

      สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์กำไรของกลุ่มธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังได้รับผลดีจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นแต่ต้องเผชิญหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ขณะที่กลุ่มนอน-แบงก์ และไฟแนนซ์ เจอบีบ 2 ทางคือ ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้นกำไรจากดอกเบี้ยลดลง และความเสี่ยงหนี้เสียเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงรับข่าว และรอการรายงานกำไรไตรมาส 2

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม non-bank ส่วนใหญ่จะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปี 2566  จากแรงกดดันจาก credit cost และรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่สินเชื่อที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจะหักล้างไปกับมาร์จิ้นที่ลดลง 

        สําหรับแนวโน้มในระยะยาวยังคงเผชิญความท้าทายจากความเสี่ยงทางด้านกฎเกณฑ์ของทางการ  ซึ่งหากมีการนํามาใช้จริง บริษัทในกลุ่ม non-bank อาจจะถูกบีบให้ขยายสินเชื่อในระดับปกติที่ประมาณ 15-20% และเพื่อรักษาการเติบโตของกําไรสุทธิ บริษัทจึงจําเป็นต้องเพิ่ม margin 

       ด้านผลประกอบการของบริษัทในกลุ่ม non-bank ส่วนใหญ่ตามการประมาณการชะลอตัวลงเพราะโมเมนตัมเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเพิ่มแรงกดดันต่อ credit cost  กําไรสุทธิรวมของกลุ่ม  non-bank (ไม่รวม SINGER) อยู่ที่  5,400 ล้านบาท จะทรงตัว 0.5% (QoQ) แต่ลดลง 3%( YoY) และลดลง 1% ในงวดครึ่งปีแรก 2566

        สำหรับกําไรที่แผ่วลง สะท้อนถึงกําไรที่ชะลอตัวลงของ KTC คาดกำไร 1,787  ล้านบาท ลดลง 5.6% (Y-T)  และ TIDLOR  คาดกำไร  930 ล้านบาท ลดลง  5.2%(Y-Y) จากฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูง และ credit  cost สูงขึ้น

       ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายบริษัท คาดว่ากําไรของ   SAWAD จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง  เนื่องจากยอดขายมอเตอร์ไซค์ยังคงเร่งตัวขึ้น  ซึ่งการที่บริษัทใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อ H/P รถมอเตอร์ไซค์จะทําให้สินเชื่อยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและหนุนให้กําไรเพิ่มขึ้น

    รายได้ภาคเกษตร และการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอลงกดดันคุณภาพสินทรัพย์ ในขณะที่ NPLที่เกิดใหม่จํานวนมาก ทําให้ credit cost สูงขึ้น โดยเฉพาะในบริษัทที่มีส่วนรองรับหนี้เสียต่ำ (อย่างเช่น MTC) เพื่อรองรับการ write-off หนี้เสีย และผลขาดทุนจากการขาย NPL

      ส่วนรองรับหนี้เสียที่สูงของ KTC และTIDLORจะทําให้ทั้งสองบริษัทต้องบริหารจัดการ credit  costในขณะที่ NPL ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ของ SAWAD จะทําให้ credit  costอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ซึ่ง ณ จุดนี้ เรายังคงมองบวกกับ SAWAD และTIDLOR

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์