โบรกแนะเลี่ยง‘หุ้นไฟแนนซ์’ ธปท. จ่อคุมเข้มหนี้ครัวเรือน กดดันกำไร
“กลุ่มไฟแนนซ์” ราคาหุ้นดิ่งยกแผง รับผลกระทบนโยบายแก้หนี้ “แบงก์ชาติ” เตรียมคุมเข้มหนี้ครัวเรือน สกัดหนี้ขยายตัวเร็ว “บล.กสิกรไทย” มองมาตรการธปท. ส่อกระทบธุรกิจ ซ้ำเติมสารพัดปัจจัยลบเดิม แนะ “เลี่ยง” ลงทุนไปก่อน รอความชัดเจน “บล.ทิสโก้” ชี้เป็นความกังวลเพิ่มเติม
ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วานนี้ (20 ก.ค.2566) ร่วง 15.46 จุด มาอยู่ที่ 1,521.18 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย (วอลุ่ม) 45,332.13 ล้านบาท แม้ว่าจะมีความชัดเจนระดับหนึ่งว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอนแต่สูตรในการร่วมรัฐบาลนั้นยังไม่แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยจะยังจับมือกับพรรคก้าวไกลหรือหันไปร่วมมือกับกลุ่มขั่วอำนาจเก่าดังนั้นจึงมีแรงเทขายลดความเสี่ยงออกมา เพราะกังวลความวุ่นวายนอกสภาฯ
ขณะที่ ราคาหุ้น “กลุ่มไฟแนซ์” วานนี้ปรับตัวลงแรงเช่นกัน นำโดย บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ราคาลดลง 3.06% มาอยู่ที่ 47.50 บาท บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ราคาลดลง 3.31% มาอยู่ที่ 36.50 บาท บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ราคาลดลง 1.77% มาอยู่ที่ 22.20 บาท
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาลดลง 1.61% มาอยู่ที่ 45.75 บาท บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONT ราคาลดลง 0.61% มาอยู่ที่ 162.50 บาท บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC ราคาลดลง 3.27% มาอยู่ที่ 1.48 บาท
โดยปัจจัยกระทบหลักๆ มาจากกลุ่มไฟแนนซ์ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนครบวงจร ซึ่งคาดเริ่มใช้ต้นปี 2567 รวมทั้งมาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เม.ย. 2567
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกมาตรการสำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) คาดมีผล 1 ม.ค. 2567 รวมถึงมาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เม.ย. 2567 นั้น
เบื้องต้นคาดว่าส่งผลให้กระทบการเติบโตยอดปล่อยสินเชื่อในภาพรวม โดยที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อไม่ได้มีการประเมินรายได้ก่อน หรือการเข้าเครดิตบูโร ฉะนั้น การที่ธปท. จะออกมาตรการดังกล่าวจะทำให้การปล่อยสินเชื่อเติบโตช้าลงได้ ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์
"มาตรการของแบงก์ชาติดังกล่าวนั้น ต้องการคุมให้การก่อหนี้ชะลอลงมองว่าอาจจะส่งผลกระทบถึงแนวโน้มการเติบโตของผลดำเนินงานธุรกิจไฟแนนซ์ในอนาคตได้"
อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูมาตรการ ธปท. ฉบับเต็มอีกครั้งก่อน ถึงจะประเมินผลกระทบต่อกำไรของบริษัทๆ ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบกับ AEONTS , MTC , TIDLOR , SAWAD ตามลำดับ
ขณะนี้ เรามีมุมมองใน “เชิงลบ” ต่อหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ดังนั้น แนะนำนักลงทุน “หลีกเลี่ยง” การลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์และประเมินผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งมองว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังไม่จบขาขึ้น ซึ่งจะทำให้แนวโน้มกำไรกลุ่มดังกล่าวยังไม่ดีเนื่องจากยังมีต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น และการแข่งขันในอุตสาหกรรมก็ยังรุนแรงต่อเนื่อง
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ที่ปรับตัวลงแรงอาจจะมาจากความกังวลในมาตรการคุมหนี้ครัวเรือนของธปท. เพิ่มเติมเข้ามา จากเดิมที่มีสัญญาณลบกดดันผลดำเนินงานอยู่แล้ว จากผลกำไรไตรมาส 2 ปี 2566 ที่น่าจะปรับตัวลง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น
ทั้งนี้ ยังคงต้องรอดูมาตรการแก้หนี้ของธปท. ที่ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถประเมินผลกระทบต่อธุรกิจไฟแนนซ์จะมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มไหนบ้าง และเข้าใจว่าอาจเป็นมาตรการแบบสมัครใจ ซึ่งลูกหนี้อาจไม่ได้เข้ามามากนัก ทำให้โครงการมีโอกาสไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ก็ยังต่อรอติดตามก่อน
อย่างไรก็ตาม มาตรการแก้หนี้ของธปท.ดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มใช้ในต้นปี 2567 จึงน่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟแนน์ในปีนี้ ดังนั้น อาจจะเป็นปัจจัยกดดันกลุ่มไฟฟแนนซ์ในปีหน้า
ดังนั้น ในช่วงนี้เรายังคงแนะนำ "ซื้อ" เพียงแค่หุ้น AEONTS และ TIDLOR เพราะว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาลึกมาก และ ยังไม่ปรับขึ้นมาก โดยมีโอกาสราคาหุ้นปรับขึ้นมาได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือต้นปี 2567 ซึ่งยังต้องรอติดตามต้นทุนที่อาจปรับขึ้นแค่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 เท่านั้น และหลังจากนั้นรอประเมินสถานการณ์ NPL ต่อไป
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล. ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธปท. เตรียมออกมาตรการสำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือน ผ่าน 2 ประเด็น คือ 1. มาตรการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่จะมีผล 1 ม.ค. 2567 และ2. มาตรการแก้หนี้เรื้อรังภายใน 1 เม.ย. 2567 เข้ามาควบคุมทั้งในส่วนของสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving) และสินเชื่อส่วนบุคคล ลูกหนี้ที่เข้าข่าย คือ ลูกหนี้ที่ชำระหนี้ดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นมาแล้ว 5 ปี และ มีรายได้น้อย
หากประเมิน ผลกระทบต่อหุ้นนั้น พบว่า ผู้เล่นบัตรเครดิตและผู้ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลอย่าง KTB BAY (กลุ่มแบงก์ ) AEONTS KTC (กลุ่มการเงิน: บัตรเครดิต) กระทบจำกัดเนื่องจากมาตรการที่ออกมาครบวงจรและระยะเวลาถูกขยายเป็น 5 ปี จากเดิม 4 ปี อาจส่งผลให้ผู้เข้าร่วมมาตรการน้อยลง
ส่วน MTC SAWAD (กลุ่มการเงิน : จำนำทะเบียน) อาจกระทบในประเด็นของการขยายตัวสินเชื่อหรือ Loan growth (%) โดยในอดีตการประเมินสินเชื่ออาจจะไม่ได้มีการประเมินรายได้, เครดิตบูโรที่รัดกุมเท่ากับมาตรการที่ธปท.แถลง