ปัจจัยการเมืองและทิศทางดอกเบี้ยยังต้องติดตาม

ปัจจัยการเมืองและทิศทางดอกเบี้ยยังต้องติดตาม

ภาวะการลงทุน เดือนก.ค. น้ำหนักความผันผวนยังคงเป็นประเด็นด้านการเมืองในประเทศ โดยมีฉากหลังเป็นเรื่องของการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่2 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะ สหรัฐก็ยังคงมีทิศทางไม่เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ จากทั้งหมดที่กล่าวมาโดยเฉพาะเรื่องการเมืองของเราที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะชะลอการลงทุนหรือย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศอื่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

ปัจจัยในประเทศ จากความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำการคัดเลือกประธานสภา และมาจนถึงการเสนอนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้าย คุณ พิธา ก็ไม่สามารถได้เสียงข้างมากในสภา และยังต้องเว้นปฎิบัติหน้าที่อันเนื่องมาจากประเด็นเรื่องการถือหุ้นสื่อซึ่งการพิจารณายังไม่เป็นที่สุด จากประเด็นดังกล่าว มีผลทำให้ภาวะการลงทุนผันผวนดูได้จากตลาดหุ้นไทยที่ในช่วงครึ่งเดือนแรกมีทิศทางการเคลื่อนไหวเป็นไปตามกระแสทางการเมือง พอผ่านช่วงกลางเดือนมาก็จะผ่อนลงมาเป็นเรื่องของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 

อีกปัจจัยหนึ่งก็เป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยขอเล่าผ่านทางธุรกิจสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดใหญ่ การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ยังอยู่ในอัตราการขยายตัวที่ดี แต่ที่เริ่มน่าเป็นห่วงคือสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ กลุ่ม SME สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ รวมทั้ง ไมโครไฟแนนซ์ ทำให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะออกแนวขยายตัวแบบไม่มั่นคง 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลมาจากต้นทุนการอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และไม่สามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ง่ายนัก เพราะผู้บริโภคก็ประสบปัญหาเดียวกันรวมทั้งไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจส่งผลทำให้ใช้จ่ายแต่ที่จำเป็น สรุปคือขาดความมั่นใจทำให้ชะลอการใช้จ่าย เพราะฉะนั้นจะโดน SME ก่อน ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี เราควรจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลยังล่าช้าต่อไป เศรษฐกิจที่แย่ลงในระดับรากหญ้าจะเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้

ปัจจัยต่างประเทศ FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ตามที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ โดยนาย Jerome Powell ประธาน Fed กล่าวหลังการประชุมว่า การตัดสินใจของ Fed ในการประชุมครั้งถัดไปว่าจะขึ้นหรือคงดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับทิศทางของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่จะออกมาในช่วงระหว่างนี้ ดูแล้ว FED ราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวสูงขึ้นในเดือนนี้ 

สะท้อนซาอุดีอาระเบียขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจำนวน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นเดือนส.ค. ขณะที่รัสเซียจะลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือนส.ค. ดูแล้วก็คาดว่าราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น่าจะเอาไม่อยู่ละครับ

ตลาดหุ้นกับตลาดตราสารหนี้ไทยก็คงไม่ต้องพูดเยอะหุ้นผันผวนตามการเมือง นักลงทุนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่กล้าขยับตัวมาก ดูจากปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของเดือนนี้มาอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าภาวะปกติเกือบเท่าตัว สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวลงประมาณ 0.1% หรือ 10bp. มาอยู่ที่ 1.77% และรุ่นอายุ 10 ปี ลดลง 60bp มาอยู่ที่ 2.64% เพราะนักลงทุนคาดว่าการประชุม FED ในครั้งต่อไปน่าจะมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย

สำหรับเดือนส.ค. ยังคงต้องติดตามปัจจัยทางการเมืองโดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนแรก เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตกเป็นหน้าที่ของพรรคเสียงข้างมากลำดับถัดไป ทำให้ความเป็นไปได้ที่การจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จได้เร็วขึ้นเพิ่มสูงขึ้น (ไม่ต้องรอ 10 เดือน คือ รอ ส.ว. หมดอายุ) ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเราในรอบนี้ ก็น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ขณะที่ ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และความคืบหน้าเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเช่นกัน เพราะยังส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน

ด้านการจัดพอร์ตการลงทุน ผมมองว่า ปัจจัยการเมือง ตลอดจนทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั้งของสหรัฐฯ และ ไทย(กนง.) ยังเป็นปัจจัยเดิมที่ต้องติดตามต่อเนื่องจากเดือนก่อน พอร์ตการลงทุนในเดือนส.ค. เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในหุ้น 45% โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯและ จีน รวมกันไม่เกิน 15% เนื่องจากประเด็นเรื่อง สงครามการค้าและการขยายตัวทางเศราฐกิจที่อ่อนตัวลงของจีน ญี่ปุ่น คงน้ำหนักไว้ที่ 10% เพราะเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี่อยู่ใน stage ที่เป็น cash cow (เป็นช่วงที่มีแต่กำไรไม่มีการลงทุน) ประเทศไทย 20% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 20% เป็นตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade ประมาณ 10% ตลาดเงิน 10% ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันประมาณ 15% โดยเน้นไปที่ REIT