TU กำไรไตรมาส 2/66 วูบ 36.7% อยู่ที่ 1.02 พันล้าน - หั่นเป้ายอดขายปีนี้ลดลง 5-6%
TU กำไรไตรมาส 2/66 วูบ 36.7% อยู่ที่ 1.02 พันล้าน สาเหตุหลักขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน - ส่วนแบ่งกำไรจาก"ไอ-เทล" ลด เคาะจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.30 บาท /หุ้น พร้อมปรับลดเป้ายอดขายปีนี้ลดลง 5-6% จากเดิมคาดโต 3-4% หั่นงบลงทุนเหลือ 5.5 - 5.6 พันล้าน จากเดิมตั้งไว้ 6 - 6.5 พันล้าน
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2 ปี 2566 มียอดขาย 34,057 ล้านบาท ลดลง 12.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากคู่ค้าทั่วโลกยังมีปริมาณสินค้าคงคลังที่ในระดับสูง ประกอบกับการขนส่งสินค้าปรับตัวสู่สภาวะปกติ
โดยส่งผลให้ความต้องการสินค้าชะลอตัวลง กำไรสุทธิอยู่ที่ 1,029 ล้านบาท ลดลง 36.7% สาเหตุหลักจากการขาดทุนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น ลดลงเป็นผลจากสัดส่วนหุ้นที่ไทยยูเนี่ยนถือครองลดลง
ทั้งนี้บริษัทได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.30 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 4 ก.ย.2566 เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 21 ส.ค.2566 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลในวันที่ 22 ส.ค.2566
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในหลายๆ ตลาดทั่วโลก ในครึ่งหลังของปี 2566 และถึงแม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมายในช่วงครึ่งปีแรก งบดุลของไทยยูเนี่ยนยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง ด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 0.64 เท่าในไตรมาส 2 ต่ำกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ที่ 1.0 เท่า ส่งผลให้เราสามารถจ่ายปันผลได้ คิดเป็นอัตราจ่ายปันผลสูงถึง 70.3% ของกำไรสุทธิ
โดยปกติไตรมาส 2 ของทุกปี ยอดขายจะสูงขึ้นเป็นปกติเนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขายในยุโรปเติบโตได้ดี มีกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดขายประจำไตรมาส 2 สูงขึ้น 4.3% และกำไรสุทธิสูงขึ้น 0.7% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่บริษัทได้คาดการณ์ว่าเป็นไตรมาสที่อ่อนตัวที่สุด รวมถึงกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น 16.9% อยู่ที่ 5,748 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยอดขายจากธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องอยู่ที่ 17,136 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1.3% นับเป็นยอดขายประจำไตรมาสที่สูงที่สุดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ผลมาจากราคาขายที่สูงขึ้น และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป สินค้าแบรนด์ต่างๆ ภายใต้บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในเรื่องสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
เรด ล็อบสเตอร์ ธุรกิจร้านอาหารทะเลระดับโลก ที่ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำผลงานได้ดีขึ้นในไตรมาส 2 หลังจากที่แผนพลิกฟื้นธุรกิจได้ส่งสัญญาณบวก โดยมีส่วนแบ่งขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 94 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 2 ของปี 2565 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 281 ล้านบาท
สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ไทยยูเนี่ยนจะเดินหน้าแผน และมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการทำกำไร โดยมุ่งบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน พร้อมลดต้นทุนในการผลิต เรายังเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถทำผลงานได้ดีในระยะยาว และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ประกาศกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange 2030 ที่ตั้งเป้าหมายยาวไปถึงปี 2573 เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก โดยเรามีการจัดสรรงบประมาณ 7,200 ล้านบาท เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อผู้คน และโลกของเราอีกด้วย
ทั้งนี้ TU ได้ปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2566 โดยคาดว่ายอดขายจะลดลง 5 - 6% จากเดิมคาดว่าปีนี้โต 3 - 4% จากปี 2565 ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น คาดอยู่ที่ 16.5 - 17.5% จากเดิมคาด17.5 - 18% พร้อมปรับลดงบลงทุนปีนี้เหลือ 5.5 - 5.6 พันล้านบาท จากเดิมคาดอยู่ที่ 6 - 6.5 พันล้านบาท
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์