ก้าวใหญ่ ADVANC กุมตลาดบรอดแบนด์เบ็ดเสร็จ
ธุรกิจบรอดแบนด์กลายเป็นอีกตลาดที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกปี จากการใช้บริการด้านดาต้าที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ยิ่งในยุคหลังโควิดความต้องการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่าง อินเทอร์เน็ตบ้าน ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอันดับต้นๆ ของชีวิตไปแล้ว
บรรดาผู้ประกอบการในตลาดที่แทบจะนับรายบริษัทกันได้เพราะมีอยู่ไม่กี่ราย ประกอบไปด้วย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีจำนวนฐานลูกค้าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 ที่ 3.82 ล้านราย มีรายได้จากผู้ใช้บริการรายเดือนหรือ ARPU 475 บาทต่อรายต่อเดือน จากไตรมาสก่อนมีจำนวนฐานลูกค้าอยู่ที่ 3.85 ล้านราย มี ARPU ที่ 463 บาทต่อรายต่อเดือน
อันดับ 2 คือ บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ หรือ TTTBB ของกลุ่ม จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS ซึ่งมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF เป็นผู้ถือหน่วยสินทรัพย์โครงสร้าง เช่น เสาสัญญาโครงข่าย และเส้นใยแก้วนำแสง
โดยมีฐานลูกค้า 3.71 ล้านราย มี ARPU ที่ 557 บาทต่อรายต่อเดือน แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันกลายเป็นค่ายที่เสียเปรียบ จากรายได้จากส่วนงานให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเทอร์เน็ตทีวี 4,187 ล้านบาท ลดลง 377 ล้านบาท หรือ 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 28 ล้านบาท 1% จากไตรมาสก่อน
ปัจจัยสำคัญมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และเมื่อหักจำนวนผู้ใช้บริการภาคองค์กร ลูกค้า WIFI กลุ่ม Barter กลุ่มที่ใช้ในกิจการภายใน กลุ่มบริการเสริมอื่น และกลุ่มลูกค้าที่มีหนี้ค้างออก จะมียอดผู้ใช้บริการสำหรับ ลูกค้าทั่วไปในส่วนที่เป็น Fixed Broadband และที่สามารถเก็บเงินได้ ประมาณ 2.31 ล้านราย
ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เป็นอันดับ 3 โดยมีฐานลูกค้าไตรมาส 2 ปี 2566 จำนวน 2.32 ล้านราย และมี ARPU ที่ 414 บาทต่อรายต่อเดือน
เฉพาะแค่ตัวเลขฐานลูกค้าไตรมาส 2 ปี 2566 เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าอันดับ 2 ในอดีตอย่าง TTTBB ตกอันดับไปเป็นอันดับที่ 3 ในอุตสาหกรรม และ ADVANC เข้ามาเบียด และกลายเป็นอันดับ 2 ที่อยากจะขึ้นแท่นไปเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจนี้
ความไม่แน่นอนของกระแสเงินสด JASIF ทำให้ มีแผนขายหุ้น และหน่วยลงทุนออกไปให้ ADVANC มูลค่ารวมทั้งสิ้น 32,420 ล้านบาท ซึ่งจะมีการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF วันนี้ (23 ส.ค.2566 )
ด้วยการยอมรับสภาพ TTTBB ประสบปัญหาเรื่อง สภาพคล่อง เนื่องจากกระแสเงินสดรับจากรายได้ลดลงจากการแข่งขันในธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ทำให้เดือนล่าสุด ก.ค.2566 ส่งจดหมายร้องขอต่อ บลจ. บัวหลวง (BBLAM)ในฐานะผู้จัดการกองทุนของ JASIF เพื่อให้พิจารณาอนุมัติ การขอผ่อนผันเพื่อหยุดพักการชำระค่าเช่า และการผิดนัดค่าเช่าตามสัญญาประกันรายได้ ตลอดจนการยกเลิกสัญญาประกันรายได้ และแก้ไขสัญญาเช่าหลัก
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)พาย ระบุ ดีลTTTBB ยังอยู่ระหว่างการรออนุมัติจาก กสทช. และคาดว่าการปิดดีลจะเลื่อนไปเป็นช่วงครึ่งหลังปี 2566 โดยยังคงสมมติฐานอัพไซต์ที่ 3%-14% จากดีลนี้คํานวณด้วยวิธีคิดลดเงินสด
แม้ TTTBB จะมีผลขาดทุนแต่บริษัทสามารถระบุถึงประโยชน์ร่วม และศักยภาพในการลดต้นทุน และเชื่อว่าผลขาดทุนดังกล่าวจะอยู่ในวงจํากัดหากดีลเข้าซื้อได้รับการอนุมัติปัจจุบันบริษัทกําลังรอผลการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM)ของJASIF ในวันนี้ ที่ผู้ถือหน่วยจะตัดสินใจว่าจะยกเลิกสัญญาประกันค่าเช่าหรือไม่ (ราว20%ของใยแก้วนําแสงที่เช่าอยู่ในปัจจุบัน)
ด้านผู้บริหาร ADVANC ยังคงเป้าหมาย EBITDA ปี 2566 ที่หลักหน่วยระดับต้นถึงกลางแม้ครึ่งปีแรกจะโตตํ่าที่ 2.7% YoYก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะไตรมาส 4/2566 จะมีการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ และมีจํานวนลูกค้าเพิ่มขึ้นตาม (แพ็กเกจที่ทํากําไรได้มากขึ้น)
ขณะที่ประเมินว่าEBITDA ทั้งปี 2566 จะโตเป็น 9.2 หมื่นล้านบาท (ทรงตัวYoY)ทั้งนี้กําไรครึ่งแรกปี 2566 คิดเป็น 50% ต่อประมาณการ EBITDA ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่คิดว่าGULF (ผู้ถือหุ้นADVANCทางอ้อมในสัดส่วน19%) จะคําเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม (tender offer)เพราะจะทําให้ดีลซับซ้อนยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์