กูรู ชี้ Algo Trading ดันสภาพคล่องตลาด ไร้ห่วง พฤติกรรมไม่เหมาะสม มีระบบเช็ก
นักวิเคราะห์ฟันธง “Algo Trading” เพิ่มสภาพคล่องตลาด ลดต้นทุนการซื้อขายสินทรัพย์ ไม่กระทบรายย่อย ไร้กังวล “พฤติกรรมไม่เหมาะสมจากนักลงทุน” เพราะมีซอฟต์แวร์ตรวจสอบจาก Nasdaq และ ตลท. ก็ใช้ระบบดังกล่าว
การซื้อขายหุ้นด้วย "ระบบอัลกอริทึม" หรือ Algorithmic Trading เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบันโดยมีทั้งนักลงทุนที่เห็นว่าระบบดังกล่าวเป็นประโยชน์ และฝั่งที่มองว่าส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนต่างชาติใช้ระบบดังกล่าวซื้อขายสินทรัพย์จนทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดหุ้น
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ซื้อขายสินทรัพย์ที่ใช้ระบบการซื้อขายหุ้นแบบความถี่สูง (HFT Program) 9% และส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้น SET 100 โดย 96% ของหุ้นในกลุ่ม SET 100 มีการซื้อขายแบบ HFT อยู่ไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในแต่ละหุ้น
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากธนาคารเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า เริ่มเห็นแนวโน้มการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยมือ (High Touch) มาเป็นระบบอัลกอริทึม ตั้งแต่ปี 2553 และก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นช่องทางหลักในการส่งคำสั่งซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในปัจจุบัน ที่มีสัดส่วนประมาณ 70% ของการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ
โดย จอย ฟรานซิส (Joy Francis) หัวหน้าฝ่าย Sales และ Trading บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) UBS กล่าวในงาน Thailand Focus 2023 ว่า
การซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบอัลกอริทึมมีประโยชน์สำหรับนักลงทุน และตลาดหุ้นในวงกว้าง เพราะช่วยลดต้นทุนในการซื้อขายสินทรัพย์ และเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาด รวมทั้งไม่กระทบรายย่อย
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีใครป้อนคำสั่ง เพราะเป็นระบบที่ซื้อขายหุ้นตามความต้องการของลูกค้า โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากแต่ละโบรกเกอร์คอยให้คำแนะนำ และเตือนพฤติกรรมที่อาจผิดกฎของผู้กำกับดูแล (Regulator) ในประเทศนั้นๆ
การซื้อขายหุ้นทั้งหมดผ่านระบบอัลกอริทึมจะมีคนนั่งดู และตรวจสอบคำสั่งซื้อของลูกค้าตลอดเวลา และคอยให้คำแนะนำต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งบุคคลเหล่านั้นเป็นเซลล์ที่มีประสบการณ์ด้านการซื้อขายสินทรัพย์ด้วยระบบอัลกอริทึม
เมื่อถามว่า ระบบการซื้อขายหุ้นดังกล่าวนั้นไม่สามารถควบคุมได้หรือไม่ ฟรานซิส กล่าวว่า
การเทรดด้วยอัลกอริทึมได้รับการออกแบบมาเพื่อซื้อขายหุ้นตามความต้องการของนักลงทุนด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่านั้นไม่ใช่การสั่งคำสั่งซื้อ-ขายโดยไม่มีใครควบคุม และสุดท้ายผู้ซื้อก็เป็นผู้ป้อนคำสั่งเลือกลักษณะการซื้อขายด้วยตัวเอง
โดย ประเภทของการป้อนคำสั่งซื้อดังกล่าวตามความต้องการของนักลงทุน ที่อยู่ภายใต้การให้บริการของการซื้อขายหุ้นด้วยระบบอัลกอริทึม แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักได้ตามนี้
1. Scheduled Strategies ที่ทำงานตามเวลา เช่น การทำ Time Weighted Average Price
2. Participative Strategies ที่ทำงานตามปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้น เช่น การทำ Percentage of Volume
3. Opportunistic Strategies เช่น การซื้อหุ้นโดยการมองหาสภาพคล่อง (Liquidity Seeking)
4. Aggressive Strategies เช่น การทำ Implementation Shortfall ที่จะพยายาม ส่งออเดอร์ให้ไวที่สุดโดยใช้ Arrival Price เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
ขณะที่ หยี หลัง เชิง (Yee Ling Cheng) หัวหน้าฝ่าย Sales, APAC, Nasdaq Surveillance กล่าวว่า นักลงทุนที่สามารถเข้าถึงตลาดโดยตรงได้ล้วนสามารถสร้างความผันผวนให้ตลาดได้ทั้งหมดไม่เพียงแต่ระบบการซื้อขายหุ้นแบบอัลกอริทึมเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แนสแด็ก (Nasdaq) มีระบบซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ทั้งผู้ควบคุมตลาด และโบรกเกอร์ สามารถเห็นความเคลื่อนไหวในกระดานเทรดได้พร้อมๆ กัน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมผิดปกติในตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยก็ใช้ระบบดังกล่าวอยู่
โดย การเติบโตของระบบการซื้อขายหุ้นแบบดังกล่าวเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของระบบ และรูปแบบการตรวจสอบทางด้าน “Market Surveillance” ที่ดี เพื่อให้การซื้อขายในตลาดโดยรวมมีความโปร่งใส และเป็นธรรม ส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ประกอบการ และผู้กำกับดูแลต้องกระตือรือร้น (Proactive) มากขึ้นในการตรวจสอบพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม
ด้าน คริสโตเฟอร์ ดันแฮม (Christopher Dunham) หัวหน้าฝ่าย Sales และ Trading ของบล. Jefferies กล่าวว่า กว่า 90% ของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เข้าประเทศไทยในขณะนี้ ในทางใดทางหนึ่งต้องขับเคลื่อนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์แน่นอน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์