" รายย่อย" เผชิญ วังวนเดิม เบี้ยวหนี้ – ขาดเงิน – เพิ่มทุน

" รายย่อย"  เผชิญ วังวนเดิม เบี้ยวหนี้ – ขาดเงิน – เพิ่มทุน

หุ้นบันเทิง – คอนเทนต์ไปสู่หุ้นนางงามจักรวาล บริษัท บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN อีกรายที่ต้องยืด อกรับปัญหาสภาพคล่องขาดแคลนรุมเร้าอย่างหนักจนกลายเป็นเสียเครดิตทางการเงินจากการ “ผิดนัดหุ้นกู้” เหมือนกับบริษัทรายอื่น

       หลังจากหุ้นกู้ของบริษัท รุ่น JKN239A ผิดนัดชำระหลังครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 1 ก.ย.2566  จำนวนเงินต้น และดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609 ล้านบาท แต่สามารถชำระเงินต้น และดอกเบี้ยเพียง 156 ล้านบาท คงเหลือยอดค้างชำระ 443  ล้านบาท

       ถัดมา “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และประธานกรรมการบริหารชี้แจงรายละเอียด ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการขาดสภาพคล่อง  " โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทมีระยะสั้น อย่างหุ้นกู้บริษัทมีอายุ 1 ปี 9 เดือน - 2 ปี ขณะที่บริษัทเดินหน้าลงทุนธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว ทำให้เกิด Liquidity Mismatch”

          เรียกได้ว่าการลงทุนต่อเนื่องในหลายโปรเจกต์ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนทำกำไรสุทธิให้กับบริษัทจนทำให้กลายเป็นปัญหา “เงินขาดมือ” เมื่อเจอสภาพเศรษฐกิจมีปัญหาทั้งเงินเฟ้อ  ดอกเบี้ยขาขึ้น  การเมืองที่ยืดเยื้อจนจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า  

         และปัญหาสำคัญที่สุดที่ไม่มีใครคาดคิด “ระเบิดตลาดหุ้นกู้ “ การตกแต่งบัญชีฉ้อโกงของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK  ต้นปี 2566 จนผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มูลค่า 8,000 กว่าล้านบาท   ทั้งที่ได้เครดิตเรตติ้ง BBB+   ยังเผชิญการเรียกคืนเงินในหุ้นกู้ชุดอื่นแม้จะไม่ครบกำหนด ( Cross Default) 

         หลังจากนั้นตลาดหุ้นกู้เจอการผิดนัดชำระหนี้อีกหลายรายจนสถาบัน – กองทุน รายใหญ่ขยาด ทำให้หุ้นกู้ขายยากหากเครดิตเรตติ้งไม่ดีพอ หรือมีชื่อเสียงที่น่าเชื่อถือ งบการเงินไม่โปร่งใส ทำให้การต่ออายุหุ้นกู้ (Roll Over ) ทำได้ลำบาก

        ด้าน JKN มีการออกหุ้นกู้เพิ่มสภาพคล่องเหมือนรายอื่นๆ ปี 2566  สามารถ Roll Over จนเดือนมิ.ย.ออกหุ้นกู้อายุ 1 ปี 9 เดือน ดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ7.00 - 7.50 % ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกๆ 3 เดือน  กำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2568 ให้กองทุน – สถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่  เริ่มมีสัญญาณหุ้นกู้ขายไม่หมด!!

         ถัดมา เดือนส.ค.ออกหุ้นกู้มีอายุ 1 ปี 9 เดือน ดอกเบี้ยคงที่ 7.25% ต่อปี มูลค่า 300 ล้านบาท ให้จองซื้อ ระหว่างวันที่ 18 - 20 ก.ย.2566  แต่ยังไม่ทันขายเกิดเหตุการณ์ “เบี้ยวหนี้หุ้นกู้” ซะก่อน

         หากย้อนไปช่วงปี 2564 - 2565 หุ้น JKN ได้รับความนิยมจากนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากจากสิ้นปี 2563 ราคาหุ้นปิดที่ 7.70 บาท ปี 2564 ปิดที่ 8.10 และปี 2565 ปิดที่ 4.08 บาท  และระหว่างปี  2564 ราคาหุ้นกระโดดไปถึง 11 บาท

        ท่ามกลางการบุกตะลุยซื้อธุรกิจ – กิจการ จำนวนมากเพื่อหวังสร้างการเติบโต  ซึ่งเมื่อโฟกัสช่วงปี 2564-2565  เกาะกระแสธุรกิจสายเขียวธุรกิจกัญชา-กัญชง  ตามบรรดา บจ. ในตลาดทุนไทยไปด้วย ผ่านการลงทุน  “เจทีเค โฮลดิ้ง คอมพานี ลิมิเต็ด“ เฟสแรก 455 ล้านบาท สร้างไลน์ผลิตตั้งแต่ต้น – กลาง และปลายน้ำเพื่อออกผลิตภัณฑ์ และตั้งเป้ายอดขายปี 2565 ที่ 200 ล้านบาท

            พร้อมกันนั้นยังเสนอซื้อช่องทีวีดิจิทัล NEW18 จากกลุ่ม “เหตระกูล”  มูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายหนุนธุรกิจคอมเมิร์ซ  ลดต้นทุนด้านการโฆษณาสินค้าในเครือ ใช้เงินจากกระแสเงินสด 410 ล้านบาท และใช้เงินสดจากเงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงินจํานวน 450 ล้านบาท แต่ผ่อนชําระกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจํานวนเงิน 200 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี

         ปี 2565 ดีลที่จุดกระแสความกังขาต่อฐานะการเงินของ JKN หลังประกาศเข้าซื้อหุ้น 100% องค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization หรือ MUO) มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ หรือ 800 ล้านบาท

         แม้ว่าราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นทันทีออกข่าวช่วงแรกหลังจากนั้นเริ่มเห็นการ เทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องรวมไปถึง “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ขายหุ้นตัวเองออกมาเช่นเดียวกันตั้งแต่ช่วงราคา 4.74 – 4.10 บาท จำนวน 4 ครั้งรวมแล้ว  300 ล้านบาท

        เนื่องจากเริ่มมีการมองไปถึงแผนการซื้อ MOU  จะต้องเพิ่มทุนแม้จะออกมาปฏิเสธในช่วงแรกแต่สุดท้ายกลับลำประกาศเพิ่มทุนขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคาเสนอขาย 3 บาทต่อหุ้นเพื่อจัดสรรเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน 55% ปรับโครงสร้างทางการเงิน  ชำระหนี้เงินกู้ของบริษัท และซื้อ MOU

        ปัญหาของ JKN วันนี้สามารถหาทางออกได้ไม่ยาก หากมี "แผนธุรกิจที่ทำกำไรบนความเป็นจริง" ได้ "ไม่ขายฝัน" เอารายได้อนาคตมาสร้างความคาดหวังจนเกินไป  รวมทั้งลดต้นทุน  - ค่าใช้จ่ายในอนาคต

       ด้วยทางเลือกที่มีไม่มากทำให้ราคาหุ้น JKN ลงลึก 1.10 บาท อาจจะได้เห็นเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม  หรือหาพันธมิตรใส่เงินเข้ามาเพิ่มแต่กระทบจำนวนหุ้น และราคาหุ้น   สุดท้ายผู้ถือหุ้นกู้ประชุม 29 ก.ย.66 อาจจะจำใจยอมให้ผ่อนผันผิดนัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ย และไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน (Call Default)  เพื่อความหวังได้เงินต้นคืน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์