Srettha-nomic ดันตลาดหุ้นไทยไหวไหมไตรมาส4
“ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว แต่ทำไมตลาดหุ้นไทยกลับไม่ไปไหน” เป็นคำถามที่นักลงทุนไทยต้องการคำตอบมากที่สุดในช่วงนี้ สำหรับผม เหตุผลมีด้วยกันหลายอย่าง
นโยบายเศรษฐกิจที่หาเสียงไว้ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ตรงกันคือประเด็นที่เห็นได้ชัดที่สุด
ไม่ใช่แค่เพราะรัฐบาลใหม่มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูง ตลาดจึงมักออกอาการ Sell on Fact แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่ตลาดคิด คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแรงๆ เพิ่มการบริโภค แต่รัฐบาลกลับเริ่มด้วยมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน กระทบกลุ่มพลังงานที่คิดเป็น 20% ของ Market capitalization ทิศทางหุ้นจึงไม่ไปตามใจคิดในช่วงเริ่มต้น
ประเด็นที่สอง คือสถานการณ์ของตลาดการเงินโลก ที่แม้รัฐบาลอยากกระตุ้น ก็อาจไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
โดยปกติ Long-term P/E Multiple ของ SET Index จะเคลื่อนไหวใกล้กับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 15-16เท่า ด้วย EPS 90-100 บาท เป้าหมาย SET Index จึงขยับขึ้นได้เพียง 1,500-1,600 จุด ใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน
การปรับ Multiple ของตลาดหุ้นไทยมักเกิดขึ้นในสองกรณี คือรายได้เติบโตมากจากการบริโภคของต่างชาติ หรือมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า จากตลาดหุ้นโลกดีแล้วส่งผลมาถึงไทย ต่างจากในช่วงนี้ ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ชัด การท่องเที่ยวยังไม่กลับ การ Re-Rating หรือปรับระดับ P/E จึงเกิดขึ้นได้ยากไม่ว่าเราจะกระตุ้นแค่ไหน
เหตุผลที่สามคือจีน ที่รัฐบาลไทยตบมือข้างเดียวยังไม่ดัง
มองผ่านตัวเลขเศรษฐกิจจะพบว่าจีนกับไทยเปรียบเสมือนฝาแฝด เนื่องจากไทยพึ่งพาจีนมาก ทั้งในแง่ของมูลค่าการค้าและบริการ
ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็น 13% ของการส่งออกทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเคยคิดเป็นถึงกว่า 30% ของนักท่องเที่ยวขาเข้าก่อนโควิด
นโยบายฟรีวีซ่าถือว่าเลือกได้ถูกจุด เหลือแค่ว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาหรือไม่และเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าเศรษฐกิจจีนกลับมาจริง จะปลุกทั้งภาคขนส่ง ท่องเที่ยว และบริการต่างๆ กลับมาพร้อมกัน ถึงเวลานั้น ผมมองว่า P/E ของ SET จะมีโอกาสปรับขึ้นไปได้ถึง 18-19 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยของช่วงที่เศรษฐกิจดีในอดีต
ถึงจุดนี้ นักลงทุนหลายท่านอาจสงสัยว่า Srettha-nomic ที่มาพร้อมกับความคาดหวังของนโยบายกระตุ้นมากมาย จะไม่สามารถหนุนตลาดหุ้นไตรมาสที่4 ปี 2566 นี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งสถานการณ์ตลาดทุนโลกหรือเศรษฐกิจจีนได้เลยหรือ
ผมจึงค้นสถิติ SET Index ไตรมาสที่4 ในอดีต 20 ปี มาให้ผู้อ่านได้คิด วิเคราะห์ ไปด้วยกัน
ประเด็นแรก คือข้อมูลในอดีตย้ำว่าปัจจัยในประเทศมักไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ SET ปรับตัวขึ้นหรือลงแรง
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีต ไตรมาสที่4 ที่ SET ปรับตัวขึ้นมากที่สุดคือปี2546 ที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสำคัญของโลกอย่าง APEC หรือปี2563 ที่โลกฟื้นจากตัวการค้นพบวัคซีนในการรักษาโรคระบาดโควิด
ขณะที่ฝั่งปรับฐานแรง เช่นในปี 2558 ก็เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ หรือปี 2561 ที่ SET ร่วงลงแรงก็มาจากประเด็นสงครามการค้า หรืออาจกล่าวได้ว่าในสองทศวรรษที่ผ่านมา แทบไม่มีไตรมาสสุดท้ายของปีไหน ที่เรื่องในประเทศจะเด่นไปกว่าประเด็นมหภาคจากต่างประเทศ
นั่นเป็นเพราะว่าในระยะสั้น P/E multiple จะคิดเป็นกว่า 70% ของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
เมื่อผมวิเคราะห์เจาะลงไปในปีที่ SET Index ขึ้นแรงหรือลงแรง จะพบว่า P/E Multiples ที่เปลี่ยนแปลงไป (จากเริ่มไตรมาสไปถึงจนถึงจบไตรมาส) จะผันผวนมากกว่าช่วงเวลาปกติ
การเปลี่ยนแปลงของตลาด ช่วงเวลาที่มีผลตอบแทนดีที่สุด 5 อันดับแรก กว่า 69% มาจากการเปลี่ยนแปลงของ P/E เช่นเดียวกันกับ ช่วงเวลาที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุด 5 อันดับแรกการเปลี่ยนแปลงของ P/E ที่มีผลกับราคาก็คิดเป็นถึง 68% ของการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
โดยสรุป ผมมองว่า Srettha-nomic อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะหนุนให้ SET ฟื้นตัวขึ้นอย่างโดดเด่นได้ในไตรมาสสี่ที่กำลังจะมาถึง
ระดับ 1,550-1,600 จุดเป็นแนวต้านสำคัญ และจะผ่านไปได้ต้องมีตลาดการเงินโลกที่เข้าสู่โหมด Risk-on และเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นจริงเข้ามาสนับสนุนด้วย
ส่วนหุ้นแนะนำในไตรมาสสุดท้าย ผมมองไปที่ TU ที่ได้กำลังซื้อแข็งแกร่งจากสหรัฐคอยหนุน IVL คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และ CENTEL วัดใจไปกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนครับ