ดาวโจนส์ทรุดกว่า 300 จุด ร่วง 3 วันติด ถูกกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง

ดาวโจนส์ทรุดกว่า 300 จุด ร่วง  3 วันติด ถูกกดดันจากบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(21ก.ย.)ร่วงลงกว่า 300 จุด ปรับตัวลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 370.46 จุด หรือ 1.08% ปิดที่ 34,070.42 จุด
  • ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 72.20 จุด หรือ 1.64% ปิดที่ 4,330.00 จุด
  • ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 245.14 จุด หรือ 1.82% ปิดที่ 13,223.98 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 370.46 จุด หรือ 1.08% ปิดที่ 34,070.42 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 72.20 จุด หรือ 1.64% ปิดที่ 4,330.00 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 245.14 จุด หรือ 1.82% ปิดที่ 13,223.98 จุด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งขึ้นในวันนี้ ขานรับตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.197% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2549 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 4.482% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.529% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2566 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 7,750 ราย สู่ระดับ 217,000 ราย

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 21,000 ราย สู่ระดับ 1.66 ล้านราย

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี

การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ