"DELTA-HANA-KCE" หุ้นจุดพลุแรงและปรับฐานลึก
หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ของไทยกลับกลายเป็นหุ้นที่มีความผันผวนสูงที่สุดพอๆ กับหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน หลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมาทำให้หุ้นในกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงและเป็นหุ้นสุดหวือหวาแห่งตลาดหุ้นไทย
ลักษณะธุรกิจที่ไม่ได้เป็นหุ้นเทคโนโลยีอย่างชัดเจนเหมือนในตลาดหุ้น Nasdaq ที่มี APPLE, MICROSOFT, ALPHABET ,META , NVIDIA และ Tesla เป็นต้น หากแต่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในฐานะซัพพลายป้อนบริษัทเทคฯ เหล่านี้ จนทำให้ถูกโยงเป็นตัวแทนสำหรับตลาดหุ้นไทยไปแทน
โดยมี “3 หุ้นกระแสแรงแห่งยุค” แท็กทีม บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เพาเวอร์ซัพพลาย และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบกำลังไฟฟ้า (Power Systems) ซัพพลายที่ใช้งานในเซิร์ฟเวอร์ คอมพิวเตอร์ระบบเครือข่าย ให้กับผู้ผลิตชั้นนำในอุตสาหกรรมใหญ่ของโลก เช่น โทรคมนาคม การแพทย์ รถยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไฮบริด และได้ขยายไปยังธุรกิจ Cloud และหัวชาร์จไฟฟ้า
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ในสหรัฐใช้เป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ตามอุปสงค์จากกลุ่มยานยนต์, cloud computing และ smartphones (จากเทคโนโลย 5G)
บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นบริษัทผลิตและส่งออก 100% แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า PCB ซึ่งถือได้ว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มยานยนต์ 80% รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต 12.5% และยังมีสินค้าโภคภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร
ด้าน “ราคาหุ้นเป็น 3 หุ้นที่ทำราคา All time high” ตลอด 3 ปีผ่านมา DELTA สตาร์ตปี 2563 ราคา 30 บาท มาจบปลายปีที่ 838 บาท แตะ 1,000 บาท ปี 2564 ราคาร่วงลงแรงต่ำกว่า 300 บาท ปี 2565 แต่ไม่ได้ทำให้ DELTA หมดเสน่ห์ เพราะราคาหุ้นไล่ซื้อดันราคาที่ 1,142 บาท ปี 2566
เดือนเม.ย.2566 ประกาศแตกพาร์ จาก 1 บาท เหลือ 0.10 บาท ทำให้จำนวนหุ้นในตลาดเพิ่มขึ้นราคาหุ้นเหลือ 80 บาท แต่ราคาหุ้นยังทะยานทะลุ 100 บาทเสมือน 1,000 บาท ก่อนแตกพาร์ก่อนจะเจอจังหวะ “ช็อตฟิล” นักลงทุน ราคาหุ้นลงไป 70-80 บาท
จากรายการบิ๊กล็อตขายหุ้นเดือนก.ย.2566 ของผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทแม่ที่ไต้หวัน “Delta International Holding Limited B.V. “รวมจำนวน 89 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.72% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทเฉลี่ยราคาหุ้นละ 94.75 บาท มูลค่ารวม 8,432 ล้านบาท เป็นการขายต่ำกว่าราคาปิดวันก่อนเกือบ 9%
ด้าน KCE ปี 2565 ไต่ราคา แตะ All time high 88.50 บาท ลงมาลึกแถว 40.25 บาทและต่ำสุดปี 2566 ที่ 36.00 ทำให้ช่วงปี 2563-2564 ราคาหุ้น KCE ปรับตัวสูงถึง 112% เปรียบเทียบกับดัชนีหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันปรับตัวขึ้น 60 จุด เพิ่มขึ้น 3.88% เรียกได้ว่า KCE เป็นหุ้นที่ Outperform market ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจนเมื่อผลประกอบการออกมาผิดจากคาดไปมากตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2565 จึงแห่เทขายไล่ทุกราคาลงมา
ขณะที่ HANA ถือว่าเป็นหุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาดมาตลอดปี 2563-2564 ราคาปิดอยู่ที่ 39.75 บาท และกระโดดไปที่ 88.50 บาท ตามลำดับ ปี 2565 ราคาปิดที่ 51.50 บาท เกิดจากปัญหาต้นทุนการผลิตได้รับผลกระทบ
ปัจจุบันสถานการณ์ต้นทุนปรับตัวลง – ความต้องสินค้าเพิ่มสูงขึ้น จนไตรมาส 2 ปี 2566 ออกมาแข็งแกร่งและคาดการณ์ไปยังช่วงที่เหลือของปีจะเติบโตตัวต่อเนื่องจึงมีการปรับเป้าหมายราคาหุ้นใหม่ของบางโบรกเกอร์เป็น 80 บาท ทำให้ราคาหุ้นเก็งกำไรที่ 66.25 บาท
และหุ้นปรับตัวลงรับข่าวเพิ่มทุน PP 65 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 57.00 – 58.90 บาท เป็นราคาต่ำกว่าราคาในกระดาน 5-8% และมี option ในการขายหุ้นเพิ่มอีก 15 ล้านหุ้น ให้สถาบันการเงิน เพื่อขยายซิลิคอนคาร์ไบด์ และฝ่ายวิจัยฯ ซึ่งมี 25 สถาบัน-กองทุนซื้อลงทุนระยะยาวเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2024 ที่เกาหลีใต้
เรียกได้ว่าหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหุ้นไทยทั้ง 3 บริษัทกลุ่มที่เก็งกำไรในช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว และปรับมาสู่การปรับฐานใหญ่-จบรอบ เช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์