โบรกเกอร์ชี้ ‘บอนด์ไทย’ ผ่านพ้นจุดสูงสุด สัญญาณเงินลงทุนไหลกลับ ‘ตลาดหุ้น’
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้น แตะระดับ 5.013% ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2550 จากระดับต่ำกว่า 4% เมื่อสามเดือนที่แล้ว และสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3.3% สูงสุดของปีนี้สูงสุดในรอบ 10 เดือน
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐ และไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นแรงกดดันทำให้ “Earning Yield Gap” ของตลาดหุ้น เทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลนั้นมีช่องว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลไปสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกว่าหรือไม่
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า Earning Yield Gap ของสหรัฐลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 อยู่ที่ 0.2% ในขณะที่ Earning Yield Gap ของไทยอยู่ในระดับ 1.7% ของตลาดหุ้นไทยที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,390 จุด ต้องยอมรับว่าการที่ Earning Yield Gap ของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทำให้ตลาดหุ้นของสหรัฐไม่มีความน่าสนใจ
แต่ในทางกลับกัน "ตลาดหุ้นไทย” เริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 1,390 จุด ซึ่งอยู่ในจุดที่ผลตอบแทนเริ่มกลับมาน่าดึงดูด และคาดว่าตลาดหุ้นไทยเข้าใกล้ "จุดต่ำสุด” แล้ว
รวมทั้งจับตาตัวเลขบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลงแรงจะสวนทางกับตลาดหุ้นไทยที่จะเริ่มขยับขึ้น และเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะไม่หลุดกรอบ 1,300 จุด อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยสะสมหุ้นไทยใน “ระยะสั้น”
ทั้งนี้ถ้าหากสงครามยังคงยืดเยื้อต่อไปจะส่งผลให้ระดับตัวเลขบอนด์ยีลด์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยปกติแล้ว หากบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวขึ้น จะดึงบอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวขึ้น และจากตัวเลขบอนด์ยีลด์เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ 0.01% จะทำให้ตลาดหุ้นไทยดาวน์ไซด์ลงไปถึง 25 จุด และคาดว่าสงครามที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอาจปรับตัวลดลงไปอยู่ที่แนวรับ 1,344 จุด
จับตา 2 ปัจจัยกดดันบอนด์ยีลด์
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ทั่วโลกมีความผันผวน และปรับตัวสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนส.ค. อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณ 0.30 - 0.40% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ โดย "สรพล" มองว่าขณะนี้ บอนด์ยีลด์ ของไทยผ่านจุดสูงสุดมาเรียบร้อยแล้ว และจะทยอยปรับตัวลดลงจากแรงกดดันบอนด์ยีลด์คลายตัว โดยมี 2 ปัจจัยที่ต้องตามต่อในตลาดบอนด์ยีลด์ต่อจากนี้ในช่วงต้นเดือนพ.ย.2566 ที่จะบ่งบอกได้ว่าทิศทางของบอนด์ยีลด์ทั่วโลกจะเป็นอย่างไร คือ
1.การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจเป็นการปิดประตูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในปีนี้ ที่อาจทำให้แรงกดดันของบอนด์ยีลด์คลายตัว
2.สถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ต้องติดตามต่อว่าจะมีความยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงออกมานอกฉนวนกาซา และลุกลามไปยังซีเรีย เลบานอนหรือไม่
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า Earning Yield Gap ของไทยยังเป็นบวก และหากเทียบเงินปันผลที่ 3.3% กับอัตราผลตอบแทนบอนด์ไทยที่มีผลตอบแทนที่ 3.3% ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาถึง “ระดับความเสี่ยง” ที่สามารถยอมรับได้
โดยคาดว่าบอนด์ไทยอาจผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีในการซื้อบอนด์ ทั้งนี้จะต้องถือบอนด์ขั้นต่ำเป็นระยะเวลา 1 ปีถึงจะได้ผลตอบแทน ทำให้ “ตลาดหุ้นไทย” มีความน่าสนใจมากกว่าบอนด์ยีล สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง
เนื่องจากในปีนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาแล้ว 16% ดังนั้นการลงทุนใน 6 เดือนข้างหน้า มี 2 ปัจจัยบวก คือ
1.ดัชนีหุ้นไทยที่อาจปรับตัวขึ้น และ 2.ผลตอบแทนในตลาดหุ้นสูงขึ้น และหุ้นปันผล อาจทำให้ Earning Yield Gap มีทิศทางที่ดีขึ้นในปีหน้า โดยมองว่าหุ้นในกลุ่มค้าปลีกมีความน่าสนใจ จากนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่จะยังคงเดินต่อไป รวมทั้งหุ้นกลุ่มที่มีปันผลสูง และกลุ่มธนาคาร และไฟแนนซ์บางตัว
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้ากลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)จำกัด กล่าวว่า “ในระยะยาว” ตลาดหุ้นกลับไม่มีความน่าสนใจเท่าในอดีต จาก Earning Yield Gap ของไทยอยู่ที่ระดับ 1.7% จากอัตราผลตอบแทนบอนด์ไทยที่อาจปรับตัวขึ้น คาดว่าตลาดหุ้นกลับไปเคลื่อนไหวเหนือระดับ1,600 จุด ภายในปีหน้านั้นเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้การที่อัตราผลตอบแทนของบอนด์ไทยที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ และ 2.ความต้องการเงินของภาครัฐ จากแผนออกพันธบัตรรัฐบาลรวม 1.25 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นจาก 1.07 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสะท้อนวินัยการคลังทำให้อัตราผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น เมื่อ Earning Yield Gap ของไทยที่อยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกันมากขนาดนี้ ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่ากังวล อาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้ลงทุนน้อยลง หรือลดสัดส่วนในตลาดหุ้นลง และกระจายการลงทุนไปยังบอนด์มากขึ้น
ทั้งนี้ มองบอนด์ระยะยาวอาจมีความเสี่ยงยีลด์ขึ้น ทำให้บอนด์ระยะสั้นอายุ 2 ปี จะมีความคุ้มค่าการลงทุนมากกว่า รวมทั้งการลงทุนหุ้นไทยที่ปรับฐานมาอยู่ที่ระดับ 1,390 จุด แนะนำให้นักลงทุนเลือกซื้อหุ้นกลุ่มเฉพาะตัวที่มีราคาปรับตัวลงมาจากในอดีต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์