NAM พันธมิตรแน่น เทรดวันนี้ WHA - PSH ร่วมถือหุ้น
วงการตลาดทุนเฝ้าจับตาดูอีกหนึ่งหุ้นน้องใหม่ บมจ.นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น(NAM) ที่เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้ (31 ต.ค.) เป็นวันแรก นั่นเพราะ NAM ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่นักวิเคราะห์ยกให้เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานสุดแกร่ง
นอกจากนี้ ยังสะท้อนได้จากกลุ่มผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนในรอบนี้ มีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มากมายเข้ามาร่วมด้วย เช่น บมจ.ปตท.(PTT) , บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA) และ บมจ.พฤกษาโฮลดิ้ง(PSH)
ขณะที่บรรยากาศการลงทุนในหุ้น IPO ช่วงนี้ เต็มไปด้วยวิกฤติความเชื่อมั่นหลังมีนักเก็งกำไรไม่กี่รายอาสาเข้าไปทำหน้าที่ Market Maker ทั้งไล่ราคา และทุบหุ้นกันสนุกมือ
แต่ทว่าผู้ลงทุนจำนวนมากได้รับความเสียหายจนเข็ดขยาดกับหุ้น IPO ดังนั้นวงการตลาดทุนจึงจับตาดูว่า ถ้าหุ้นพื้นฐานแกร่งอย่าง NAM ยังไปไม่รอด อาจสะท้อนว่า “หุ้น IPO” น่าจะกลับสู่ “ยุคมืดมน” อีกครั้ง ซึ่งนั่นจะเป็นหายนะครั้งใหม่ของตลาดหุ้นไทย
สำหรับ NAM ซึ่งเตรียมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันนี้เป็นวันแรก ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 181 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25.86% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้ว มูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 0.50 บาท
จุดเด่นของ NAM มีฐานลูกค้าสำคัญเป็นโรงพยาบาล และหน่วยงานองค์กรทางด้านสาธารณสุขกว่า 1,200 แห่ง ครอบคลุมทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยมาตรฐานสากลระดับเดียวกับยุโรป และสหรัฐมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมากกว่า 50 ปี
ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NAM ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า การเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ ไม่เพียงแค่มีช่องทางการหาเงินทุนมากขึ้น แต่จะได้เรื่องภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งมาตรฐานของบริษัท จะถูกยกระดับขึ้นทันที
ที่สำคัญยังสามารถดึงดูด "พันธมิตรใหม่" เพื่อเข้ามาต่อยอดธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็น "ผู้นำ" ในอุตสาหกรรมผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มงานปราศจากเชื้อในประเทศไทย พร้อมต่อยอดขยายธุรกิจกับพันธมิตรไปสู่ระดับโลก
"ยกตัวอย่างกรณีที่บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. (PTT) เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 15% (ตัวเลข ณ หลังขาย IPO) ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่ทำให้บริษัท มองภาพใหม่ของการแพทย์ที่ต้องการเติบโตระดับโลก (Global) มากกว่าก่อนหน้าที่มองการเติบโตในประเทศไทยที่รอลูกค้าเข้ามาซื้อ แต่มาวันนี้ต้องการนำสินค้าออกไปขายตลาดข้างนอก"
วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การเข้าระดมทุนนับเป็นก้าวสำคัญเพื่อสร้างเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปขยายธุรกิจ ประกอบด้วย 1.โครงการขยายโรงงานแห่งใหม่ 2.โครงการลงทุนพัฒนาศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ 3.โครงการลงทุนหรือร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจเครื่องมือทางการแพทย์ หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของบริษัท และ 4.เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เนื่องจากในปัจจุบันมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่โรงพยาบาล อาทิ ห้องทดลอง, คลินิก, ห้องปฏิบัติการทั้งคนและสัตว์, ผู้บริการทางการแพทย์ และกลุ่มลูกค้าระดับครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มลูกค้าดังกล่าว บริษัท ยังไม่เคยเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ
"เรามีเป้าหมายสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ต่อยอดนวัตกรรมจากการคิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ"
วิโรจน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ภาพรวมการแข่งขันใน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้รุนแรงมากนัก เนื่องจากการนำเข้าเครื่องมือแพทย์มีราคาสูง แต่ด้วยศักยภาพของบริษัท ที่สามารถผลิต และนำเสนอด้วยราคาที่ต่ำกว่าผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ประเภทที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche)
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ประกอบด้วย
1. อัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
2. จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มีแนวโน้มกลับมาใช้บริการในไทยเพิ่มขึ้น
3. ผู้ประกอบการโรงพยาบาลมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง
4.กระแสการใส่ใจสุขภาพ และความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรในประเทศไทย และทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
5. ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองประเภทถุงมือยาง หลอด และเข็มฉีดยา เป็นต้น
6. นโยบายสนับสนุนจากรัฐในการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โดยรวมมีแนวโน้มสูงขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราตั้งเป้าการเติบโตจากการขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกิจการใหม่ หรือความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต เพื่อมุ่งเน้นการขยายกิจการทั้งใน และต่างประเทศ ด้วยการสร้างรากฐานรองรับการเติบโตในอนาคต
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์