เปิด‘ข้อดี-เสีย’ ชอร์ตเซล เครื่องมือบริหารพอร์ตลงทุน
คณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาประกาศ สั่งแบน “ชอร์ตเซลหุ้น” (short-selling) บริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้
ทั้งนี้ มาตรการห้ามชอร์ตเซลหุ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 พ.ย.2566 ไปจนถึง มิ.ย. 2567 พร้อมกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น
และเแค่เพียงวันแรกที่มีผลบังคับใช้ (6 พ.ย.) "ตลาดหุ้นเกาหลีใต้" กลับมาฟื้นตัวได้อย่างน่าสนใจ พบว่า ดัชนีKOSPI 200 Index+ 5.6% บวกแรงสุดรอบเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 2,500 จุด และยังมีวอลุ่มการซื้อขายหนาแน่น ส่วนดัชนี KOSDAQ 150 Indexเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ปรับตัวพุ่งขึ้นร้อนแรง ถึง 6.2%
บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา จำกัด กล่าวถึงมุมมองของ“นักวิเคราะห์ SOS ASSET MANAGEMENT” ที่ระบุว่า การเปลี่ยนนโยบายการขายชอร์ตหุ้นของทางการเกาหลีใต้ อาจดูเป็นเรื่องที่ “ไม่เหมาะสม” เป็น “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” มากกว่า มุ่งเป้าทำให้เกิดความเป็นธรรมในตลาดหุ้นจริง เพราะเดือนเม.ย.ปีหน้า เกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้ง
ใน "ตลาดหุ้นเกาหลีใต้" นักลงทุนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุด กลุ่มหนึ่งนั่นคือ“นักลงทุนรายย่อย”ถ้าหากว่าการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทำให้นักลงทุนรายย่อยพอใจก็จะมองว่า เป็นผลดีต่อการเมือง”
ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บลน.ฟินโนมีนา ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนสถาบัน ส่วนใหญ่“ชอร์ตเซล”ที่ “หุ้นกลุ่มอีวีแบตเตอร์รี่” มีสถานะถูกชอร์ต เพิ่มขึ้นมามากกว่า 18-20% ของฟรีโฟลต์ นับว่า เป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยปริมาณการขายชอร์ตเซลหุ้นดีดตัวเพิ่มขึ้นมาก ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมานี้เอง แสดงให้เห็นว่า ทางการคงเห็นตัวเลขที่ตลาดหุ้นพังและปรับลงแรงกว่าปกติ
ลองมาดูกันที่ “ดัชนีKOSPI 200 Index” เมื่อเข้าสู่การปรับฐานในช่วงกลางเดือนต.ค. ที่ผ่านมา เหมือนฤดูหนาวจะมาเยือนเกาหลีใต้ (winter is coming ) แต่ฤดูหนาวนั้น ถูกปิดด้วยทางการ สั่งแบน ขายชอร์ตหุ้น แล้วทำให้“ตลาดหุ้นกาหลีใต้ ดีดกลับขึ้นมา”
คำถามคือ การสั่งห้าม “ชอร์ตเซลหุ้น” แบบนี้ ในอดีตเคยเกิดขึ้นในแทบทุกตลาดหรือไม่“ชยนนท์” กล่าวว่าในเวลา ตลาดหุ้นขาลงมา ทางการแทบจะทุกตลาดหุ้นทั่วโลก มักจะ“ใช้เครื่องมือนี้ เพื่อหยุดแรงขาย”
แน่นอนว่า ที่ผ่านมาทางการเกาหลีใต้เองเคยทำ สั่งห้าม‘ชอร์ตเซล’ เมื่อปี 2008 วิกฤติซัพไพร์ม ,ปี 2011วิกฤติยูโรเดฟซีลลิ่ง และปี 2020 วิกฤติโควิด หลังจากนั้นเริ่มมาตรการดังกล่าวราว 1 เดือน ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เหมือนจะเจอจุดต่ำสุด แล้วดีดกลับมาได้ทุกครั้ง
ขณะที่รอบนี้ มองว่า ตลาดหุ้นเกาหลีใจ้จะดีดสวนทางกลับมาเป็นขาขึ้นได้เลยเหมือนกับ 3 รอบที่เคยมีการสั่งแบน ‘ชอร์ตเซล’ มาแล้ว
ส่วนตัวยังมีมุมมองว่า ทางการของตลาดหลักทรัพย์ฯประเทศอื่นๆ อาจต้องมาพิจารณาว่า “ถ้าอยากให้หุ้นขึ้นนี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หรือนโยบายที่อาจจะทำให้ตลาดนั้นกลับมาฟื้นได้” และ "การอนุญาตให้ทำชอร์ตเซลไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้ามีมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด”
สำหรับ “ตลาดหุ้นไทย” ช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างออกมายืนยันว่า “ไม่มีการกระทำดังกล่าว”ที่ผิดปกติ
เราต้องรอติดตามกันว่า“ตลาดหุ้นไทย”จะมีแอคชั่นกับเรื่องนี้อย่างไร เมื่อขณะนี้ตลาดเริ่มมีทีท่ากลับมาเป็นขาขึ้นแล้ว
รวมถึงจะมีตลาดหุ้นที่ไหนอีกบ้าง ออกมาตรการเช่นเดียวกันนี้อีกหรือไม่ หรือจะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขสำหรับการทำชอร์ตเซลอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้“ขบวนการชอร์ตเซล”กลับมาอาลาวาดป่วนในตลาดหุ้นมากจนเกินจำเป็น