'ตลท.-โบรกเกอร์' ย้ำมีระบบตรวจจับ Naked Short - มุ่งทำหน้าที่ให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจลงทุน

'ตลท.-โบรกเกอร์' ย้ำมีระบบตรวจจับ Naked Short - มุ่งทำหน้าที่ให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจลงทุน

ตลท.ยันมีระบบตรวจจับผู้ทำ Naked Short ได้ทั้งนักลงทุนในประเทศ - ต่างชาติ เชื่อคัสโตเดียนไม่โกหก "รองรักษ์ "ระบุ ตลท.มีหน้าที่ทำให้การซื้อขายหุ้นเป็นธรรม - ดึงดูดนักลงทุน "นายกสมาคมโบรกเกอร์" ชี้ กรณีโปรแกรมเทรดสัดส่วนสูงขึ้นแตะ 40% - HFT เพิ่มขึ้น เป็นเทรนด์โลก จึงต้องพัฒนาวิธีช่วยรายย่อยสร้างผลตอบแทนที่ดี

วันนี้(17 พ.ย.66) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัด Press Briefing  เรื่องการเปิดเผยข้อมูลรายวันเพิ่มเติม" และ “ทำความเข้าใจ Program Trading และ Short Selling” 

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากความกังวลการทำชอร์ตเซล โดยที่ผู้ทำการชอร์ตเซลนั้นไม่มีหุ้นอยู่ในมือก่อนส่งคำสั่งขาย หรือที่เรียกว่า Naked Short นั้น ต้องบอกว่าตลาดหลักทรัพย์มีการตรวจสอบการซื้อขายเป็นปกติ ซึ่งในอดีตก็เคยตรวจเจอ และลงโทษโบรกเกอร์ที่ปล่อยให้ลูกค้า

โดยการทำ Naked Short นั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์สามารถตรวจสอบได้ เพราะเวลาส่งคำสั่งขายนั้นจะมี timestamp ที่บอกว่าช่วงเวลาที่มีคำสั่งขาย ซึ่งสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าช่วงเวลานั้นนักลงทุนมีหุ้นอยู่ในมือหรือเปล่า ซึ่งเราก็จะถามไปยังโบรกเกอร์ ซึ่งโบรกเกอร์เป็นด่านแรกในการตรวจสอบว่า ก่อนที่จะมีการส่งคำสั่งขายลูกค้ามีหุ้นในพอร์ตหรือเปล่า โดยโบรกเกอร์ก็จะมีกระบวนการในการตรวจสอบของตนเอง

ส่วนกรณีที่เป็นนักลงทุนต่างชาตินั้นตลาดหลักทรัพย์ก็สามารถตรวจสอบได้ โดยจะสอบถามไปที่คัสโตเดียน ซึ่งคัสโตเดียนจะมีการสรุปข้อมูลพอร์ตหุ้นของลูกค้าเป็นรายวัน และข้อมูลดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นข้อมูลเดียวกันกับของTSD หากข้อมูลไม่ตรงนั้น ก็จะมีกระบวนการดำเนินการลงโทษ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคัสโตเดียนจะมีการปรับแก้ข้อมูลเพื่อช่วยลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เพราะปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคัสโตเดียนส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ซึ่งหากเกิดประเด็นขึ้นมาก็จะกระทบต่อชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ มีผลทำให้ลูกค้ารายอื่นไม่เชื่อมั่นในการเข้ามาใช้บริการ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มีการศึกษาหลายๆ ด้านว่าอะไรจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจ และดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน

“ตลาดหลักทรัพย์พยายามทำหน้าที่ของเราในเรื่องการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนเท่าที่ทำได้ เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจลงทุน และทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์มีความเป็นธรรม โปร่งใส”

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลโปรแกรมเทรดเป็นรายวันนั้นที่เริ่มวันแรกวันนี้ (17 พ.ย.2566) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์จะเปิดเผยข้อมูลรายหลักทรัพย์ (หุ้น) ที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหว และมูลค่าซื้อขายเข้าเกณฑ์ให้กับนักลงทุนทราบว่าหุ้นตัวนี้มี Program Trading ซื้อหรือขายที่เข้าเกณฑ์ เช่น ราคาหุ้นเคลื่อนไหวขึ้นหรือลง10% ขึ้นไป มูลค่าซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเข้าเงื่อนไขทั้งราคา และมูลค่าซื้อขาย 

 

 

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการเปิดเผยข้อมูลShort Selling เป็นรายกลุ่มนักลงทุน เหมือนกับการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายตามกลุ่มนักลงทุนนั้น นายรองรักษ์ กล่าวว่า ต้องดูว่านักลงทุนได้ประโยชน์อย่างไรกับการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะ  ตลาดหลักทรัพย์จะไม่ทราบว่าเป็นนักลงทุนเป็นใคร เพราะ นักลงทุนจะส่งคำสั่งขายชอร์ตกับโบรกเกอร์ ทำให้ตลท.จะเห็นข้อมูลเป็นเลขที่ในการเปิดบัญชีเท่านั้น นอกจากนี้ยังติดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPA )

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการชอร์ตเซลนั้น กติกาการทำนั้นก็เป็นแบบเดียวกันตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งการชอร์ตเซลนั้นทำให้กลไกของตลาดทำงานได้ดี เพราะนักลงทุนสามารถลงทุนได้ทั้งตลาดหุ้นขาขึ้น และขาลง

ส่วนความกังวลเรื่อง Naked Short นั้น ต้องบอกว่าตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มีการสุ่มตรวจบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ทุกปี ซึ่งจะดูว่ารายการซื้อขายของโบรกเกอร์ไหนมีความผิดปกติก็จะมาสุ่มตรวจ โดยในอดีตที่ผ่านมาก็มีการตรวจสอบพบว่า มีการทำNaked Short  ตลท.และก.ล.ต. ก็มีมาตรการลงโทษ

ส่วนความกังวลเรื่องการส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด ปัจจุบันโปรแกรมเทรดมีอยู่ 4 แบบ แต่แบบที่อาจจะทำให้นักลงทุนมีความกังวลคือ High Frequency Trading หรือ HFT ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีความถี่สูง โดยผู้เขียนโปรแกรมนั้นเป็นนักพัฒนาโปรแกรมระดับโลก

ส่วนที่จะมีผลกระทบต่อนักลงทุน ส่วนตัวมองว่าจะกระทบกับนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีลักษณะการลงทุนแบบเข้าเร็วออกเร็ว และจะมีผลทำให้ตลาดอยู่ในภาวะซบเซาหรือไม่นั้น ก็ต้องบอกว่าHFT นั้นทุกตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีการส่งคำสั่งซื้อขายลักษณะดังกล่าว และเงื่อนไขของHFT ก็เป็นแบบเดียวกันทั่วโลก

ทั้งจากที่การตั้งประเด็นว่าการส่งคำสั่งซื้อผ่านโปรแกรมเทรดลักษณะHFT นั้นจะทำให้เกิดความได้เปรียบของนักลงทุนรายย่อยนั้น ส่วนตัวมองว่าเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้  โบรกเกอร์จึงต้องพัฒนา หรือวิธีการลงทุนอย่างไรเพื่อให้นักลงทุนสามารถลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี 

 “ปัจจุบันนักลงทุนไทยมีหลากหลายประเภท ทั้งเข้าเร็วออกเร็ว นักลงทุนที่ลงทุนระยะกลาง และระยะยาว ผสมกัน และมีนักลงทุนทั้งวัยเก๋า จนถึงวัยเด็ก ซึ่งประเด็นHFT นั้นก็จะกระทบนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าเร็วออกเร็ว ที่ไม่สามารถแข่งในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายกับโปรแกรมเทรด HFTได้ ”

สำหรับกรณีที่นักลงทุนนัดหยุดเทรดในวันที่ 20 พ.ย.2566 นั้น ก็เป็นสิทธิของนักลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ และโบรกเกอร์นั้นมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลจากที่นักลงทุนมีความสงสัย  

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์