เทียบตลาดหุ้น 'อินเดีย-ฮ่องกง-ไทย' NIFTY จ่อแซง Hang Seng แล้ว SET อยู่จุดไหน?
เปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ ความแตกต่างระหว่าง “ตลาดหุ้นอินเดีย” ที่กำลังมาแรง กับ “ตลาดหุ้นฮ่องกง” รวมถึง “ตลาดหุ้นไทย” ตั้งแต่ผลตอบแทน, P/E, บริษัทยักษ์ใหญ่ และปัจจัยสนับสนุน - กดดันในแต่ละตลาด
Key Points
- “ตลาดหุ้นอินเดีย” ทำผลงานโดดเด่น มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจนทะลุ 4 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 140 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก ไล่จี้มูลค่าตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งอยู่ต่ำกว่า 4.7 ล้านล้านดอลลาร์
- ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงอย่าง “ฮั่งเส็ง” ค่อยๆ ปรับตัวลงจนทำให้ผลตอบแทนติดลบ 17.99% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และมีระดับ P/E ที่ 9.14 เท่า
- ราคาหุ้นบริษัทท่าอากาศยานไทยหรือ AOT ปรับตัวลงแรง เนื่องจากกระทรวงการคลังกำลัง “พิจารณา” ยกเลิกพื้นที่ปลอดภาษี (Duty Free) ขาเข้า
ท่ามกลางมรสุมตลาดหุ้นทั่วโลกแดงเถือกจากดอกเบี้ยขาขึ้น มีตลาดหุ้นประเทศหนึ่งที่ “สวนกระแสขาลง” นั่นคือ “ตลาดหุ้นอินเดีย” หลังทำผลงานโดดเด่น จนมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นทะลุ 4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 140 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรก ไล่จี้มูลค่าตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งอยู่ไม่ถึง 4.7 ล้านล้านดอลลาร์
ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงอนาคตอันสดใสในตลาดหุ้นอินเดีย ขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นฮ่องกงและไทยอยู่ในช่วงปรับตัวลดลง จึงน่าสนใจว่า ทั้ง 3 ตลาดหุ้นนี้มีจุดแตกต่างกันอย่างไร ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเท่าไร และ 3 บริษัทใหญ่ที่สุดในแต่ละตลาดหุ้นมีอะไรบ้าง
- 1. ตลาดหุ้นอินเดีย
“อินเดีย” ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก แซงหน้า “จีน” อย่างเป็นทางการแล้วที่ 1,428 ล้านคน และจากเดิมที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศยากจน ปัจจุบันก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง
ข้อมูลจาก World Data Lab คาดการณ์ว่า “อัตราการเติบโต” ของชนชั้นกลางอินเดียจะอยู่ที่ระดับ 8.5% ไปจนถึงปี 2573 จนทำให้อินเดียมีจำนวนชนชั้นกลางมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้สามารถเป็นกำลังซื้อสำคัญสำหรับบรรดาบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้
ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยข้อมูลจากสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ประมาณ 66% (กว่า 808 ล้านคน) ของประชากรทั้งประเทศ มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งแรงงานหนุ่มสาวที่ขยายตัวนี้เป็นผลดีต่อโรงงานต่างชาติ ในด้านประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานเมื่อเทียบกับแรงงานอายุมาก
ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างชาติจำนวนมากจึงย้ายฐานการผลิตไปที่อินเดีย เพราะการเติบโตด้านประชากรแรงงานดังกล่าว อีกทั้งอินเดียยังมีทักษะภาษาอังกฤษ และ IT ที่ดีระดับหนึ่งจนสามารถเป็นฐานการผลิตด้านเทคโนโลยีได้ และเป็นทางเลือกใหม่ช่วยกระจายความเสี่ยงจากจีน
บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่มีฐานการผลิตในอินเดีย เช่น Google บริษัทเสิร์ชเอนจินระดับโลกได้ย้ายการผลิตมือถือ Google Pixel ไปที่อินเดีย, Apple พึ่งพาอินเดียเป็นฐานผลิตสินค้าอย่างมือถือ iPhone เพื่อกระจายความเสี่ยงจากจีน, Microsoft เจ้าของโปรแกรม Microsoft Office ลงทุนด้านศูนย์ข้อมูล, HP บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ไอที, IBM ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ระดับโลก ให้บริการด้านระบบคอมพิวเตอร์ในอินเดีย และยังเป็นบริษัทที่วางระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้กับทำเนียบประธานาธิบดีอินเดีย ฯลฯ
ความโดดเด่นเหล่านี้ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาจนทำให้ตลาดหุ้นอินเดียมีมูลค่าทะลุ 4 ล้านล้านดอลลาร์ “เป็นครั้งแรก” และกำลังไล่ตามตลาดหุ้นฮ่องกงมาอย่างกระชั้นชิด โดยดัชนี NIFTY ของตลาดหุ้นอินเดียให้ผลตอบแทน 15.49% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และมีระดับ P/E ที่ 22.38 เท่า
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรกในตลาดหุ้นอินเดีย ได้แก่
1. Reliance Industries บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีมูลค่าบริษัท 199,990 ล้านดอลลาร์ ทำธุรกิจครอบจักรวาลตั้งแต่ปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ เครื่องแต่งกาย สิ่งทอ โทรคมนาคมและสื่อ ฯลฯ โดย Reliance Industries ยังเป็นเจ้าของบริษัท Viacom18 ผู้ผลิตสื่อ และภาพยนตร์ชื่อดังของอินเดีย อีกทั้งเป็นเจ้าของบริษัท Jio ที่ให้บริการดิจิทัล 5G, อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, JioTV, JioCloud, Jio Payments Bank, JioNews ฯลฯ
- JioCinema ของอินเดียซึ่งคล้าย Netflix (เครดิต: Jio) -
2. HDFC Bank ธนาคารผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มีมูลค่าบริษัท 159,000 ล้านดอลลาร์ และมีลูกค้าราว 120 ล้านคน มากกว่าประชากรไทยเสียอีก ครอบคลุมมากกว่า 8,300 สาขา และมีพนักงานมากกว่า 177,000 คนจากทั่วโลก
3. Tata Consultancy Services เป็นบริษัทที่ปรึกษา และให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามชาติของอินเดีย มีมูลค่าบริษัท 158,000 ล้านดอลลาร์ และมีพนักงานทั่วโลก 615,000 คน โดยลูกค้าของธุรกิจอยู่ในหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงินและธนาคาร, ค้าปลีก, พลังงาน, ประกัน, สื่อสาร ฯลฯ อีกทั้งมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น บริษัทค่ายรถยนต์ General Motors และธนาคาร Citigroup
- 2. ตลาดหุ้นฮ่องกง
สำหรับจีนที่เป็นระบอบสังคมนิยม และมีกฎระเบียบด้านตลาดทุนมากมาย ตลาดหุ้นฮ่องกงจึงถือเป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่างกระแสเงินจากต่างประเทศกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ติดขัดเรื่องระเบียบการลงทุนอันเข้มงวดในจีน ก็สามารถลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงที่เอื้อต่อชาวต่างชาติมากกว่าได้
- ฮ่องกง ศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก (เครดิต: Freepik) -
อย่างไรก็ตาม นโยบายการจัดระเบียบตลาดทุนของรัฐบาลจีน มีจุดประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19 การจัดระเบียบไล่มาตั้งแต่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Alibaba, Tencent และยังลามไปถึงธุรกิจกวดวิชา เกม อสังหาริมทรัพย์ การแพทย์ ฯลฯ ส่งผลให้กำไรที่ควรได้ของธุรกิจเหล่านี้หดตัวลง นักลงทุนตื่นตระหนก และถอนการลงทุนออกจากตลาดจีนไปจำนวนไม่น้อย
ยิ่งไปกว่านั้น ผลพวงจากการปิดเมืองอันยาวนาน แม้ปัจจุบันจีนกลับมาเปิดเมือง และเปิดประเทศตามปกติแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร หนุ่มสาวจีนตกงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะที่ระดับ 21.3% ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ก่อนที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนประกาศระงับเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งจีนยังเผชิญวิกฤติหนี้อสังหาริมทรัพย์ด้วย
ยังไม่นับรวมที่สหรัฐออกมาตรการจำกัดบริษัทเทคโนโลยีจีนในการเข้าถึงชิปขั้นสูงอีก จึงทำให้ดัชนีตลาดหุ้นฮ่องกงอย่างฮั่งเส็ง (Hang Seng) ค่อยๆ ปรับตัวลงจนให้ผลตอบแทนติดลบ 17.99% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และมีระดับ P/E ที่ 9.14 เท่า
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรกในตลาดหุ้นฮ่องกง ได้แก่
1. AIA เป็นบริษัทประกันภัย และการเงินข้ามชาติในฮ่องกง โดยก่อตั้งแต่ปี 2462 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และเป็นกลุ่มประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 92,170 ล้านดอลลาร์
2. Hong Kong Exchanges and Clearing (HKEX) เป็นบริษัทที่ดำเนินงานตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (Hong Kong Stock Exchange) และมีมูลค่าบริษัท 41,670 ล้านดอลลาร์
3. Jardine Matheson ก่อตั้งในจีนช่วงปี 2375 มีมูลค่าบริษัท 29,330 ล้านดอลลาร์ ประกอบธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร ธุรกิจตกแต่งบ้าน บริการทางการเงิน สุขภาพและความงาม ค้าปลีก ยานยนต์ ฯลฯ
- 3. ตลาดหุ้นไทย
ตั้งแต่ต้นปีนี้ ตลาดหุ้นไทยเผชิญความผันผวนเหมือนรถไฟเหาะอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล กรณีอื้อฉาวจากหุ้น More ที่ทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และบริการน้ำครบวงจร และหุ้น Stark ที่ผลิตสายไฟฟ้า และสายเคเบิลเกิดการทุจริตขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดลดลงอย่างหนัก
อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความแตกต่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐกับไทยในปัจจุบัน โดยสหรัฐอยู่ที่ 5.50% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 2.5% จึงทำให้กระแสเงินไหลออกจากไทยไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าคือ สหรัฐ
ล่าสุด เกิดข้อถกเถียงในวงการหุ้นว่าการใช้ “โรบอตเทรด” และการทำ “Naked Short Selling” หรือการขายหุ้นออกไปเพื่อทำกำไรขาลง โดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง เป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงแรงผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยืนยันว่า หลังจากตรวจสอบแล้ว “ไม่พบการ Naked Short Selling” แต่อย่างใด
ปัจจัยกดดันเหล่านี้จึงทำให้ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย ให้ผลตอบแทนติดลบ 16.73% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และมีระดับ P/E ที่ 18.07 เท่า
สำหรับบริษัทที่มูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรกในตลาดหุ้นไทย ได้แก่
1. บริษัท ปตท. (PTT) มีมูลค่าบริษัท 1 ล้านล้านบาท ทำธุรกิจสำรวจน้ำมันและก๊าซ ทำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตไฟฟ้า ค้าปลีกน้ำมัน และเป็นเจ้าของร้านกาแฟ Café Amazon ในปั๊มน้ำมัน และในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วประเทศ
2. บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA) มีมูลค่าบริษัท 976,000 ล้านบาท ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์การจัดการระบบกำลังไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทอย่างพัดลมอิเล็กทรอนิกส์, อีเอ็มไอ ฟิลเตอร์ (EMI) และโซลินอยด์ อีกทั้งยังออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบพลังงาน มีฐานการผลิตอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป และอเมริกาใต้
3. บริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) มีมูลค่าบริษัท 857,000 ล้านบาท บริหารงานท่าอากาศยานระดับชาติ 6 แห่งของไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เรียกได้ว่า ชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยจะต้องผ่านการใช้บริการจากบริษัทนี้แทบทั้งสิ้น
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (เครดิต: AOT) -
ปัจจุบัน ราคาหุ้นบริษัทท่าอากาศยานไทยหรือ AOT ปรับตัวลงแรง เนื่องจากกระทรวงการคลังกำลังพิจารณายกเลิกพื้นที่ปลอดภาษี (Duty Free) ขาเข้า ซึ่งอาจกระทบรายได้สัมปทานของห้าง King Power ที่มีต่อ AOT อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อยู่ในระหว่าง “การพิจารณา” ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้
นอกจากนั้น ราว 10 สายการบินจีนได้แจ้งคืนสล็อตบินที่เดินทางมายังไทยในช่วงเดือนธ.ค.2566 จนถึง ม.ค. 2567 โดยในเดือนธ.ค. จากเดิมที่เคยแจ้งยอดเที่ยวบินมายังไทย จำนวน 10,939 เที่ยวบิน แต่ปัจจุบันพบว่าเหลือเพียง 5,858 เที่ยวบิน นั่นหมายถึงหายไป 5,081 เที่ยวบินหรือ 46% และกลายเป็นปัจจัยกดดันหุ้น AOT จนฉุดตลาดหุ้นไทยโดยรวม
- สรุปตลาดหุ้น 3 ที่ อินเดีย, ฮ่องกง และไทย (เครดิต: ณัชชา พ่วงพี) -
อ้างอิง: bloomberg, bqprime, nifty, bfsi, companies, companies(2), companies(3), set, ril, tcs, hkex, jardines, than, bangkokbiz, bloomberg(2)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์