บลจ.จี้ ตลท.สางปม Program Trading พิสูจน์ความจริง เร่งฟื้นเชื่อมั่นรายย่อย

บลจ.จี้ ตลท.สางปม Program Trading พิสูจน์ความจริง เร่งฟื้นเชื่อมั่นรายย่อย

ปมร้อนในวงการตลาดหุ้นไทย กรณี “Program Trading” บลจ.เผย ตลท. ต้องพิสูจน์ความจริง เร่งฟื้นเชื่อมั่นรายย่อย หลังวอลุ่มเทรดหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ปัจจุบัันอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ 1 แสนล้านบาท

“Program Trading” ยังคงเป็นปมร้อนในวงการตลาดหุ้นไทย ล่าสุดกับกรณี “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโพสผ่านเฟสบุคที่ชื่อว่า Kittiratt Na Ranong “เลิก Program Trading… จะดี” หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยก่อนหน้านี้ร่วงลงหนักสุดในรอบ 3 ปี

ขณะเดียวกัน กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงกรณีดังกล่าวหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว และให้ ก.ล.ต. พิจารณาว่าการใช้ โปรแกรม Program Trading มีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ขณะที่ ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการทบทวนแนวทางในการบริหารจัดการการซื้อขายหุ้นจาก Program Trading แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีแนวทางในการการยกเลิกก็ตาม

 

ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทาลิส จำกัด ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า จากกรณี Program Trading เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ว่า เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของการลงทุนหรือไม่ แต่มีหนึ่งสิ่งที่ดูจะเป็นประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านมา และเห็นได้ชัด วอลุ่มในตลาดหุ้นก่อนหน้านี้เคยเทรดกันอยู่ประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งการซื้อขายผ่าน Program Trading ตกอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ขณะที่ปัจจุบันวอลุ่มเทรดปรับตัวลดลงมาเรื่อย ๆ ตามดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมา อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่โปรแกรม Program Trading อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้วอลุ่มลดลงมาเกือบ 40% หรือเรียกได้ว่า ลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่งของวอลุ่มเทรดซึ่งถือว่า ค่อนข้างมาก

ขณะที่ก่อนหน้า มองว่า การมี Program Trading เข้ามาจะทำให้ตลาดหุ้นไทยเกิดความคึกคักมากขึ้น แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม เพราะต้องดูที่สภาพตลาดหุ้นเข้ามาประกอบด้วย เมื่อตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงตลาดหมี วอลุ่มเทรดน้อย ขณะที่ Program Trading น้อยลงแต่ไม่ได้น้อยมาก แต่มีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยยะ จึงเป็นประเด็นสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบแล้ว และได้ออกมาชี้แจงว่าไม่มีความผิดปกติ แต่ในช่วงหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ยังไม่แน่ใจ จึงอยากให้มีการพิสูจน์กันให้แน่ชัด โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ หุ้น SABUY เข้าร้องกับ DSI ให้ตรวจสอบในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ได้แจ้งว่า ได้รับความเสียหายจากกรณีที่บริษัทสงสัยว่ามีการทำ Naked Short Sell ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.66 จึงเป็นประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ปรากฎ และเชื่อว่า สามารถพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ไม่ยาก โดยการตรวจสอบจากโบรกเกอร์มีการแอบนำหุ้นของลูกค้าไปยืมให้คนอื่น Naked Short Sell หรือไม่ก่อนหน้ามีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการยกเลิกชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาค่อนข้างมากหากเทีียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นปัจจัยพื้นฐานที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างแรง ซึ่งบางตัวราคาลงมาต่ำกว่าช่วงโควิด ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานดี และมีกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งมองแล้วค่อนข้างที่จะขัดแย้งกัน และคาดว่าน่าจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดปกติ 

บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย)  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีโปรแกรม Program Trading ที่กำลังมีปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ ต้องยอมรับว่า ในฐานะสถาบันการเงินที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย ปัจจุบันไม่ได้มีการซื้อขายตามวอลุ่ม หรือตามโมเมนตัมของตลาดหุ้นไทยมากนัก 

ทั้งนี้ในส่วนของสถาบันจะดูในเชิง Fundamental และ Valuation ของแนวโน้มหุ้นของตลาด โดยพิจารณา จากปัจจัยพื้นฐาน ระดับราคา และความเสี่ยง ว่ามีความเหมาะสมที่จะเข้าไปลงทุนได้หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในเมืองไทยหลังจากที่มีกรณีเรื่อง Program Trading จะส่งผลต่อวอลุ่มการซื้อขาย เมื่อถึงจุดทริกเกอร์เมื่อไร จะมีจุด Stop Loss ที่มีการเซตระบบไว้ จึงทำให้เกิดการซื้อ การขายในปริมาณที่ค่อนข้างชัด และมีวอลุ่มขึ้น จึงส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนรายย่อย 

“ในมุมของสถาบันต้องยอมรับว่า ยังไม่ได้มองในมุมดังกล่าวสักเท่าไร แต่รายย่อยจะมีการดูวอลุ่มการซื้อขาย ว่าจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนในช่วง ณ เวลานั้น ๆ อาจจะมีผลต่อต่อรายย่อย แต่สถาบันส่วนตัวมองว่า ไม่ได้มีประเด็นในส่วนดังกล่าว” 

ทั้งนี้กับกรณีที่มีกระแสข่าวออกมา ให้มีการยกเลิก Program Trading นั้นมองว่า AI ที่ทำให้เกิดการซื้อขายที่ผิดปกติจากสภาพตลาดหุ้น โดย ก.ล.ต. จะมีการระบุไว้อยู่แล้วว่า หากมีการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติของสภาพตลาดถือว่ามีความผิด ทั้งนี้หากไม่ได้มีการซื้อขายผิดจากสภาพตลาด ส่วนตัวไม่ได้กังวลที่จะต้องยกเลิก 

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวอาจทำให้มีการซื้อขายตามโมเมนตัมของตลาด และทำให้เกิดแรงส่งที่มัลติพลายเออร์ที่เพิ่มขึ้น เช่น หากระบบโปรแกรมมีการสั่งขาย และนักลงทุนรายย่อยเห็นว่ามีปริมาณการสั่งขายมาก ทำให้มีการสั่งขายตาม จึงทำให้เกิดผลเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ทางจิตวิทยา