เส้นทางหุ้น KEX ดาวร่วงต้องผ่าธุรกิจใหญ่
จากหุ้นสุดร้อนแรงปี 2563 บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX ด้วยธุรกิจใหญ่โลจิสติกส์ “ส่งด่วน” หรือ Kerry Express
กลายเป็นกระแสตามมูลค่าการเติบโตที่มีความต้องการใช้บริการมหาศาลจาก “โควิด” ขึ้นแท่นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงแต่ระยะเวลา 4 ปี กลับกลายเป็นดาวร่วงราคาหุ้นลงแรงจนนึกถึงราคาหุ้นไอพีโอไม่ออกเลยทีเดียว
เดือนธ.ค.2563 KEX ตบเท้าเข้าตลาดหุ้นไทยด้วยเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 300 ล้านหุ้น ที่ราคา 28.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขาย สามารถระดมเม็ดเงินในครั้งนี้ 8,400 ล้านบาท มีมูลค่ามาร์เก็ตแคป 4 หมื่นกว่าล้านบาท
เม็ดเงินหลักจะนำไปขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน ลงทุนในระบบการขนส่ง และพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, ชำระคืนเงินกู้ และเป็นเงินทุนหมุนเวียน ด้วยความรุนแรงของสถานการณ์โควิดส่งผลทำให้รองรับการส่งสินค้าได้ถึง 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน
KEX ส่งด่วนรายใหญ่จากมาเลเซียแต่ไปเติบโตในฮ่องกง ก่อนจะกระจายปักหมุดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเครือข่ายการให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ด้วยจุดให้บริการกว่า 15,000 แห่ง ส่งผลทำให้เป็นหุ้นดาวรุ่งจากราคาหุ้นในปี 2563 เปิดการซื้อขาย 132.14% ที่ 65.00 บาท ราคาสูงสุดที่ 73.00 บาท ก่อนจะปิดราคาสิ้นปี 2563 ที่ 49.25 บาท
ราคาหุ้นผันผวนตามผลประกอบการ และภาวะตลาดเกิดขึ้นกับทุกบริษัทแต่กรณีของ KEX ราคาหุ้นกลับทำ "All Time Low" ต่อเนื่องจากสิ้นปี 2564 ราคาปิดที่ 30.25 บาท สิ้นปี 2565 ราคาปิด 18.40 บาท และ สิ้นปี 2566 ราคาปิดที่ 4.94 บาท ระหว่างทางทำราคาต่ำสุดที่ 3.86 บาท จากหุ้นหลักสิบบาทเหลือหลักบาทในระยะเวลา 4 ปี
โดย KEX เผชิญแรงถาโถมทางธุรกิจที่พลิกจากวิกฤติเป็นโอกาสกลับไปสู่สถานการณ์ปกติเมื่อ โควิดคลี่คลายความต้องการสั่งสินค้าหรือการจัดส่งที่เกิดโอเวอร์ดีมานด์ลดวูบทันที พร้อมกับการแจ้งเกิดของหน้าใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้จนกลายเป็นสมรภูมิเดือดแทน
เจ้าตลาด “ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส” หรือนิ่มซี่เส็ง ขนส่งรายใหญ่จากภาคเหนือเปิดแบรนด์ “นิ่ม เอ็กซ์เพรส” เจ้าใหญ่จากเยอรมนี “ดีเอช แอล” ส่วนรายใหม่ “เอสซีจี เอ็กซ์เพรส” ที่ร่วมทุนกับ ยามาโตะ หรือ แมวดำ บริษัทขนส่งรายใหญ่ของญี่ปุ่น “นครชัยแอร์” ก็มีบริการส่งพัสดุด่วน “เอ็นซีเอ เอ็กซ์เพรส” หรือ “สปีดดี” ของเซเว่น อีเลฟเว่น ด้าน “Robinhood” ของค่ายไทยพาณิชย์ เข้ามาร่วมด้วย และที่ฆ่าไม่ตายอยู่รอด 140 ปี ครองอันดับ 1 คือ ไปรษณีย์ไทย
เมื่อตัวเลือกผู้ประกอบการเพิ่มจำนวนขึ้น “สงครามราคา” มาพร้อมกับการแข่งขัน จึงทำให้เกิดผลกระทบตามมา KEX ยังใช้ราคาเดิมในการแข่งขันจนปี 2565 ต้องปรับกลยุทธ์ “ลดราคา” ให้บริการขนส่งสินค้า และพัสดุเพื่อหวังรักษาความเป็นผู้นำตลาดที่ครองส่วนแบ่ง แม้จะไม่สอดคล้องกับต้นทุนการบริหารจัดการและการขนส่งที่สูงเมื่อเทียบกับราคาค่าบริการที่บริษัทปรับลดลงไป
ปรากฏในงบการเงิน 2565 ขาดทุนใหญ่ 2,829 ล้านบาท ตามมาด้วย 9 เดือนปี 2566 ขาดทุน 2,725 ล้านบาท สะท้อนปัญหาการจัดการต้นทุนที่ยังไม่ถูกทางแม้จะปรับราคาบริการลงมาแข่งขันแล้วก็ตาม
ท่ามกลางราคาหุ้นลงมาเหลือกว่า 3 บาท จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KEX คือ KLN Logistic Network Limited ที่เป็นบริษัท listed ในฮ่องกงได้แจ้งตลาดฮ่องกงเกี่ยวกับการประกาศจ่ายปันผลพิเศษแบบมีเงื่อนไข
โดยการจ่ายปันผลเป็นหุ้น KEX จำนวน 907.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของหุ้น KEX ภายหลังจากการทำธุรกรรมดังกล่าว KLN จะไม่มีหุ้น KEX อีกต่อไป ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KLN อย่าง SF holding จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KEX ในสัดส่วน 26% และมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ KEX หรือ tender offer โดยตั้งราคาที่ 5.5 บาท ซึ่ง SF จะยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หลังจากธุรกรรมการจ่ายปันผลพิเศษแบบมีเงื่อนไขบรรลุผล และจะเริ่มซื้อ KEX ที่ 5.5 บาท
ทั้งนี้ SF ยังไม่มีความตั้งใจ ที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ ของ KEX ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 12 เดือน เว้นแต่กฎหมายหลักเกณฑ์กฎระเบียบจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
ส่งผลต่อราคาหุ้น KEX พุ่งขึ้นภายในวันเดียว (2 ม.ค.67 )ซิลลิ่งที่ 6.45 บาท ด้วยความคาดหวังการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาทวงตำแหน่งธุรกิจดาวรุ่งได้อีกครั้ง
"กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่าไม่คาดหวังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นปรับสัดส่วนการลงทุน และคาดว่าผู้ถือหุ้นรายอื่น ในกลุ่ม BTS และ VGI จะไม่มีการขายหุ้นออกมาเพราะจะมีความเสี่ยงต้องตั้งสำรองจำนวนมากจากราคาหุ้นปัจจุบันเมื่อเทียบกับราคาไอพีโอ
ส่วนของ บมจ.วีจีไอ (VGI) ซึ่งถือหุ้นใน KEX ยังไม่รู้ VGI จะตัดสินใจอย่างไร แต่ก็อาจจะไม่ได้ทำ เพราะต้นทุนของ VGI อยู่ที่ราวๆ 18-20 บาท ซึ่งถ้าขายหมด 15.45% ที่ถืออยู่น่าจะต้อง book ขาดทุนราวๆ 3,000 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินไป แต่ในแง่ราคาเป้าหมายถ้าเอาให้ KEX เป็น 5.5 บาท ราคาเป้าหมาย VGI จะเพิ่มขึ้น 0.02 บาท หรือประมาณ 1%
ส่วน บมจ.ทีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ( BTS) ก็ถือหุ้น KEX อยู่ราวๆ 5% เหมือนกัน ก็อาจจะได้ผลบวกด้วยแต่น่าจะน้อยกว่า VGI แต่ต้นทุนก็อยู่ที่ราวๆ 10 กว่าบาทเหมือนกัน ทำให้คิดว่าเขาอาจจะยังไม่ขาย tender offer ในรอบนี้ ซึ่งเมื่อรวมกับประเมินราคามูลค่าพื้นฐานที่ 4.45 บาท ราคา tender offer ถือว่าสูง และน่าจะวิ่งในกรอบราคาดังกล่าว
ขณะที่ บล.ธนชาต ระบุ KEX ประกาศจ่ายปันผลพิเศษให้สำหรับผู้ถือหุ้น KLN มีผลทำให้ S.F. Holdings จะต้องทำ Tender Offer หุ้น KEX ที่ราคา 5.50 บาท/หุ้น มองว่าเป็นเพียง Sentiment บวกต่อหุ้น KEX เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่คำแนะนำของ KEX ยังแนะนำ "ขาย" เหมือนเดิม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์