เทรด DW ฉบับมือใหม่
DW (Derivative Warrants) ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ อัตราทด ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อสินทรัพย์โดยตรงมาก
หลายท่าน อาจเคยได้ยินคำว่า DW (Derivative Warrants) มาบ้าง เพราะเป็นสินค้าที่ใช้เงินลงทุนน้อย ในการหาโอกาสสร้างผลกำไรในระยะสั้น แต่ก็อาจมีผู้ลงทุนอีกมากที่ยังไม่รู้จัก DW บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลภาพรวมของ DW รวมถึงวิธีดูราคา DW เบื้องต้น แก่ผู้เริ่มต้นที่สนใจซื้อขาย DW
DW หรือ “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” เป็นตราสารที่มีลักษณะคล้ายกับ Warrant หรือสิทธิที่ให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นแม่ตามเงื่อนไขบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นผู้ออกกำหนด แต่ DW ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์ (Issuer) และสินค้าที่ DW อ้างอิงอาจเป็นได้ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศดัชนีหุ้นไทยและ ดัชนีหุ้นต่างประเทศ นอกจากนี้ DW ยังมีทั้งแบบที่ใช้ทำกำไรในตลาดขาขึ้น หรือที่เรียกว่า Call DW และแบบที่ใช้ทำกำไรในตลาดขาลง ที่เรียกว่า Put DW ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงสามารถเลือกซื้อขาย DW เพื่อสร้างโอกาสการทำกำไรได้ตามการคาดการณ์ของตนเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาของหุ้นหรือดัชนีที่ DW อ้างอิงอยู่ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์มี DW มีทั้งสิ้นกว่า 1,763 หลักทรัพย์ โดยมูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ที่ DW ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้นประมาณ 68% อีกประมาณ 32% จะเป็นการซื้อขาย DW ที่อ้างอิงกับหุ้น อย่างไรก็ตามหากมองถึงความนิยมของสินค้าอ้างอิงของไทยและต่างประเทศ พบว่ามูลค่าการซื้อขาย DW ที่อ้างอิงกับหุ้นหรือดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 75% ที่เหลือจะเป็นสินค้าอ้างอิงต่างประเทศ
จุดหนึ่งที่ทำให้ DW ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ อัตราทด (gearing) ซึ่งอธิบายง่ายๆ ว่าเป็นตัวช่วยให้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการซื้อสินทรัพย์โดยตรงมาก เช่น DW ที่อ้างอิงกับหุ้นมี gearing อยู่ที่ประมาณ 5 เท่า หมายความว่า หากลงทุนในหุ้นดังกล่าวในมูลค่า 100,000 บาท ก็ต้องใช้เงินเต็มทั้งจำนวน แต่หากเลือกใช้ DW ในการลงทุน ก็จะใช้เงินเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่ได้ผลเสมือนการลงทุนในหุ้นแม่ทั้งจำนวน ด้วยการเคลื่อนไหวของราคา DW นั้นจะสอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวของระดับราคาหุ้นแม่ หากแต่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม การซื้อขาย DW นั้น ผู้ลงทุนก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดด้วย เช่น DW มีอายุจำกัด ดังนั้น หากราคาหุ้นแม่ไม่เคลื่อนไหว DW หมดอายุไปก่อน ก็จะขาดทุนทั้งจำนวน
มูลค่าของ DW นั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญสองอย่าง ได้แก่ ส่วนต่างของราคาใช้สิทธิกับราคาของสินค้าอ้างอิง (Underlying) สำหรับ Call DW หากราคาสินค้าอ้างอิงสูงกว่าราคาใช้สิทธิมากขึ้น มูลค่าของ Call DW ก็จะสูงขึ้น ในทางกลับกันสำหรับ Put DW หากราคาสินค้าอ้างอิงต่ำกว่าราคาใช้สิทธิมากขึ้น มูลค่าของ Put DW ก็จะสูงขึ้น อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลค่า DW คือ อายุคงเหลือของ DW ในกรณีที่ราคาสินค้าอ้างอิงไม่เคลื่อนไหว มูลค่าของ DW จะลดลงเมื่ออายุคงเหลือลดลง
ในทางปฏิบัติ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามราคา ผู้ออก DW แต่ละรายจะมีการแสดงตารางราคาของ DW บนเว็บไซต์ของตน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนให้ทราบว่า ณ ราคาสินค้าอ้างอิงในระดับต่างๆ ผู้ออกมีแผนจะขายหรือรับซื้อคืน DW นั้นๆ ณ ราคาเท่าไร ทำให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนลงทุนใน DW ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ดูจากตารางราคาของผู้ออก DW เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สินค้าอ้างอิงตัวเดียวกันอาจจะมีผู้ออกได้หลายราย ซึ่งราคาในตารางขาย/รับซื้อคืน DW ที่แต่ละรายตั้งไว้ก็อาจจะแตกต่างกันได้ จากลักษณะของ DW ที่ต่างกัน เช่น มีวันครบกำหนดอายุ อัตราการใช้สิทธิ หรือราคาใช้สิทธิต่างกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ออกแต่ละรายยังใช้สมมติฐานด้านความผันผวนของสินค้าอ้างอิง (Implied volatility) ที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้ราคา DW ของแต่ละรายแตกต่างกันอีกด้วย โดยหากกำหนด Implied volatility ไว้สูงราคาซื้อ/ขายคืน ก็จะสูงตามไปด้วย
ดังนั้น ผู้ที่ต้องการซื้อขาย DW จึงควรศึกษารายละเอียดของลักษณะของ DW และอาจเปรียบเทียบข้อมูลของผู้ออกแต่ละรายก่อนตัดสินใจซื้อขาย เช่น ค่า Implied volatility ในตารางราคา (ระดับความถูกแพงของ DW) โดยอาจใช้เครื่องมือคำนวณ DW Calculator จากเว็บไซต์ Settrade.com ที่มีฟังก์ชั่นช่วยคำนวณ Implied volatility เพื่อเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อกำหนดสิทธิของ DW ได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. (www.sec.or.th) หรือจากเว็บไซต์ของผู้ออก DW นั้นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสภาพคล่องของ DW ในแต่ละรุ่น ระยะเวลาก่อนหมดอายุ ราคาใช้สิทธิ รวมถึงสถิติการดูแลสภาพคล่องของผู้ดูแลสภาพคล่องของ DW แต่ละรายในอดีต เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อขาย DW รุ่นที่สนใจได้ที่เว็บไซต์ www.set.or.th