ดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด ขณะนักลงทุนจับตาผลประกอบการบริษัท

ดาวโจนส์พุ่งกว่า 100 จุด ขณะนักลงทุนจับตาผลประกอบการบริษัท

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(22ม.ค.)ปรับตัวขึ้นกว่า 100 จุด ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ปิดตลาดทะยานขึ้นเกือบ 400 จุด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 138.01 จุด หรือ 0.36%  ปิดที่ 38,001.81 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 10.62 จุด หรือ 0.22% ปิดที่ 4,850.43 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 49.32 จุด หรือ 0.32% ปิดที่ 15,360.29 จุด

ตลาดได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 4.1% ในวันนี้

ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นเกือบ 400 จุดเมื่อวันศุกร์ ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 พุ่งกว่า 1% ปิดตลาดที่ระดับ 4,839.81 จุด ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565 โดยตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่สูงเกินคาด ขณะที่ผู้บริโภคเพิ่มความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต หลังคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ

นักลงทุนหันมาจับตาตัวเลขเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2566 ในวันพฤหัสบดี และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ เนื่องจากจะไม่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในขณะนี้ โดยเฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 ม.ค.

กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง

นักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ค. จากเดิมที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค.

การเปลี่ยนแปลงคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด และเจ้าหน้าที่เฟดได้ออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนการตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงจนกว่าจะมั่นใจว่าเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. และให้น้ำหนัก 55.7% ที่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังให้น้ำหนัก 52.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 31 เม.ย.-1 พ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 17.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว