‘ประสิทธิ์‘หนีศาลฎีกาตัดสินคดีเช็คเด้ง

‘ประสิทธิ์‘หนีศาลฎีกาตัดสินคดีเช็คเด้ง

ศาลฎีกาจำคุก “ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” หลังพบความผิดคดีเช็ค และยังมีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่ธ.ค. 2566 ไล่ประวัติมีเอี่ยวการกระทำผิดตั้งแต่เป็นผู้บริหารโบรกจนก.ล.ต.สั่งพักงาน และยังมีชื่อปมโกงบิทคอยน์ 797 ล้านบาท ในฐาน “ดีลเมกเกอร์” ในตลาดหุ้นไทย

แวดวงโบรกเกอร์กลายเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเมื่อมีชื่อ นายประสิทธิ์ หรือ นายปทาน ศรีสุวรรณ ถูกดำเนินคดีจากการใช้เช็ค ตั้งแต่ปี 2563 และศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกโดยไม่รออาญาหลังสืบทราบว่าได้หลบหนีไปตั้งแต่ธ.ค. 2566

ตามรายงานข่าวระบุ ศาลแขวงพระนครใต้ ได้มีการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีดำหมายเลข อ.236/2563 คดีแดงหมายเลข อ.725/2564 ที่มีนายประสิทธิ์ หรือ นายปทาน ศรีสุวรรณ เป็นจำเลยในความผิดเกี่ยวกับพรบ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โดยศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 42 เดือน หรือ 3.5 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ติดตามจำเลยมารับโทษ ขณะนี้จำเลยอยู่ระหว่างการหลบหนีตามหมายจับไม่มาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาจึงจำเป็นต้องอ่านคำพิพากษาลับหลังโดยจำเลยหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่เดือนธ.ค. 2566

ก่อนหน้านี้นายประสิทธิ์ เป็นมาร์เก็ตติ้งชื่อดังในยุค “มนุษย์ทองคำ” จนได้รับฉายา “ไข่มุกดำ”จากการซื้อตัวเพราะมีพอร์ตลูกค้าในมือระดับหมื่นล้านบาท จากนั้นขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารโบรกเกอร์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) กลับถูก สำนักงานก.ล.ต. สั่งพักงานปี 2559 เนื่องจากละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานในการทำความรู้จักลูกค้าและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการกกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็นระบบงานที่สำคัญและมีผลต่อความเชื่อมั่นตลาดทุนโดยรวม

หลังจากนั้นปี 2561 เหตุการณ์โกงบิทคอยน์ 797 ล้านบาท ปรากฎชื่อ นายประสิทธิ์ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องออกมายอมรับว่าเป็น “ดีลเมกเกอร์” ให้บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) และเตรียมความพร้อมธุรกิจบล็อกเชน จนได้รู้จักนายเออาร์นี โมตาวา ซาริมา นักลงทุนชาวฟินแลนด์ เป็นผู้เสียหายก่อนเรื่องจะบานปลายโยง ทั้งการโอนหุ้นที่มีปัญหา การออกดราก้อน คอยน์ ( Dragon Coin (DRG)

และนายปริญญา จารวิจิต   ดารา นายแบบ  ถูกกองปราบปรามจับกุมตัวตามหมายจับศาลอาญาที่ 1694/2561 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2561 ข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งเป็นผู้ที่ชักชวนทุกคนมาร่วมลงทุน

จากนั้นชื่อนายประสิทธิห่างหายจากวงการโบรกเกอร์แต่ยังมีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องถึงการเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการเป็น market maker ให้กับบรรดาเจ้าของหุ้นไอพีโอที่หวังราคาปรับตัวขึ้นในวันแรก  รวมทั้งกรณี ปล้นสะท้านตลาดทุนไทย กรณีหุ้นบริษัทมอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ที่นายอภิมุข บำรุงวงศ์ ใช้วงเงินมาร์จิ้นจากหุ้น MORE ซื้อหุ้นดังกล่าวมูลค่า 4,350 ล้านบาท  และไม่มีการชำระค่าหุ้นเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565