อัยการจ่อฟ้อง “วนรัชต์” คดี STARK พบได้ผลประโยชน์ ‘ขายหุ้น’
DSI ส่งสำนวนเพิ่มเอาผิดอีก 3 ราย ครั้งนี้มี "วนรัชต์" ด้วยหลังพบหลักฐานมัดตัวเส้นทางการเงินได้รับประโยชน์ขายหุ้น "STARK" ในช่วงราคาพุ่งแรง ส่วน "ชินวัฒน์" ไร้สำนวนฟ้องไม่พบเกี่ยวข้อง "ตกแต่งบัญชี" และ "รับเงิน" จึงกันเป็นพยานสาวถึงผู้บงการใหญ่แต่เอาผิดกฎหมายฟอกเงินได้
คดีใหญ่ฉ้อโกง และตกแต่งบัญชีในตลาดหุ้นไทยของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ล่าสุดมีความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวโทษ จากก่อนหน้าที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง 10 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กลางปี 2566 ที่ผ่านมา
ประกอบด้วย 1.บริษัท STARK 2.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) 8.บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (TCI) 9.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด และ 10.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ด้าน DSI ตรวจสอบการกระทำความผิดเพิ่มเติมรับเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 และทำการสอบสวนเสร็จสิ้นเมื่อเดือนธ.ค.2566 ซึ่งเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 11 คน ประกอบด้วย 1.บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) 2.นายชนินทร์ 3.นายวนรัชต์ 4.นายชินวัฒน์ 5.นายศรัทธา 6.นายกิตติศักดิ์ 7. นางสาวยสบวร อำมฤต 8.PDITL 9.TCI 10.อดิสรสงขลา และ 11.เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง พบการทุจริตจนผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายจำนวน 14,778 ล้านบาท
ปรากฏในสำนวนสั่งฟ้องของสำนักงานอัยการเดือนม.ค.2567 เพิ่มผู้ต้องหา 1 ราย นางสาวนาตยา ปราบเพชร ซึ่งเป็นฝ่ายบัญชีและฝ่ายบุคคล STARK และสั่งดำเนินคดี 7 ราย แต่กลับไม่มี 5 รายชื่อตัวการใหญ่ ประกอบไปด้วย นายชนินทร์ ซึ่งหลบหนีนอกประเทศ ส่วนที่เหลืออัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง คือ นายวนรัชต์ , นายชินวัฒน์ ,นายกิตติศักดิ์ และนางสาวยสบวร
๐วันนี้ (9 ก.พ.67) DSI ส่งฟ้อง “วนรัชต์-ยสบวร”
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การส่งสำนวนสั่งฟ้องทาง DSI ดำเนินการทั้ง 11 ราย ไม่ได้ตกหล่นใครไป แต่ปัจจุบันขึ้นอยู่ที่อัยการจะดำเนินการฟ้องร้องพร้อมกันหรือไม่ เนื่องจากจะต้องดูพยาน และหลักฐานประกอบร่วมไปด้วย จึงไม่สามารถดำเนินการได้หมดในคราวเดียว
สำหรับ นายวนรัชต์ และนางสาวยสบวร รวมทั้งนายกิตติศักดิ์ ปัจจุบันมีการสืบพยาน และหลักฐานเพิ่มเติมทั้งหมดแล้ว ซึ่งได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องไปให้อัยการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าน่าจะมีน้ำหนักเพียงพอในการดำเนินการสั่งฟ้องร้องเพิ่มเติมทั้ง 3 รายในทางคดีอาญาเพื่อดำเนินคดีเร็วสุด โดยคาดทางอัยการน่าจะนัดฟังคำสั่งฟ้องภายวันนี้ (9 ก.พ.67)
โดยกรณีนายวนรัชต์นั้นทาง DSI ได้มีการตามสืบเส้นทางการเงินพบพยานหลักฐานว่าได้รับผลประโยชน์จากการขายหุ้น STARK ในช่วงที่ราคาหุ้น STARK ปรับตัวขึ้นไประดับสูง ดังนั้น เชื่อได้ว่านายวนรัชต์น่าจะมีส่วนรู้เห็นว่ามีการตกแต่งงบการเงิน ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต - ตกแต่งบัญชีได้ ส่วนกรณีของนายชินวัฒน์ ที่มีการตั้งข้อสงสัยทำไมมีคำสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ชั้นสอบสวนของ DSI นั้น
พบว่าจากพยาน และหลักฐานที่มีการสอบสวนไปถึงยังไม่เพียงพอทำให้มีน้ำหนักน้อยในการรับฟัง เพราะไม่มีหลักฐานได้รับประโยชน์จากการขายหุ้นหรือการระดมทุนจากประชาชน และนักลงทุนมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท จึงดำเนินการสอบสวนไว้เป็นพยานเพื่อดำเนินการไปถึงตัวการหลักซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่า
ทั้งนี้ ตามรูปคดีผู้ที่สั่งการคือ นายชนินทร์ ซึ่งมีนายศรัทธา มือขวา นางสาวยสบวร เป็นเลขาฯ คนสนิท และนางสาวนาตยา เป็นฝ่ายบัญชีและฝ่ายบุคคลของ STARK ซึ่งนายศรัทธา รับเป็นผู้ดำเนินการส่วนนายชนินทร์อ้างว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นแต่คำให้การของนายชินวัฒน์จะทำให้คดีมีน้ำหนักมากขึ้นเพื่อสาวไปถึงนายชนินทร์
“พฤติการณ์ของนายชินวัฒน์ รับทราบข้อมูล และมีการเซ็นรับรองงบการเงินที่ตกแต่งบัญชีจริง แต่ด้วยข้อมูลผ่านตรวจสอบตั้งแต่ชั้นผู้บริหาร STARK ที่มีฝ่ายบัญชีดูแล ได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชีระดับบิ๊ก 4 ดีลอยท์ ทู้ช และกรรมการอิสระ และให้การว่านายชนินทร์ เป็นคนบอกให้เซ็นชื่อจึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ซึ่งต่างจากการไม่เซ็นเพราะแสดงว่ารู้ว่ามีการตกแต่งบัญชีเกิดขึ้น”
๐ แม้ ‘นายชินวัฒน์’ ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ DSI ยังสืบสวนฟอกเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้นายชินวัฒน์จะปฎิเสธข้อกล่าวหาจากการไม่มีส่วนเกี่ยวข้องตกแต่งบัญชี ยังมีการสืบสวนในส่วนการ ฟอกเงิน เพราะมีความเกี่ยวข้องกับ นายวนรัชต์ ในฐานะเป็นมือกฎหมายคนสนิทให้ ทั้งที่ STARK และ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA หากพบว่าเส้นทางการเงินไปถึงการซื้อสินทรัพย์อื่นตามที่มีการตั้งประเด็นเข้าลงทุนในบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MPIC ปัจจุบัน ZAA กับนายขันเงิน เนื้อนวล เข้าข่ายการตรวจสอบเช่นกัน
ทั้งนี้ กรณีการทุจริตของ STARK พบว่ามีผู้เสียหายทั้งสิ้น จำนวน 4,704 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 14,778 ล้านบาท (คดีพิเศษที่ 57/2566) ซึ่งคดีนี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น DSI โดยกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน จึงเริ่มทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เมื่อ 20 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา และมีการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 11 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยมีเอกสารพยานหลักฐานทั้งสิ้นจำนวน 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น
นอกจากการดำเนินคดีอาญาดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังพบว่ามีการนำเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท โอนเข้ากลุ่มบริษัทของผู้ต้องหาเพื่อไปชำระหนี้เจ้าหนี้การค้า รวมทั้งยักย้ายถ่ายเทเข้าบัญชีส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาดำเนินการติดตามยึดทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 49 วรรคท้าย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์